ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษ

image

 

          วันนี้ (๓๐ มกราคม ๒๕๖๐) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม “สภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ครั้งที่ ๑๕ ได้รับเกียรติจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.กมล รอดคล้าย) พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ สกศ. ผู้แทน ๕ องค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

   
 
   
 

           นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในฐานะคนนอกวงการศึกษาเห็นว่า การศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ดังนั้น แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทาง กรธ.พิจารณาการเขียนบทบัญญัติด้านการศึกษาอย่างรอบคอบ พร้อมหาข้อมูลอย่างรอบด้านในการวางกลไกขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ การแสวงหาอำนาจโดยมิชอบ การไม่เคารพกฎหมาย ซึ่งเป็นรากลึกปัญหาสังคมไทยต้องแก้ไขคนไทยตั้งแต่วัยเด็ก เน้นสร้างจิตสำนึกให้เกิดวินัย ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เช่นเดียวพลเมืองคุณภาพที่ดีของประเทศญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ที่สามารถส่งเสริมวินัยคนในชาติจนสามารถขับเคลื่อนพัฒนาประเทศก้าวไกลได้

 
   
   
 

          นายมีชัย ฤชุพันธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับลงประชามติ ให้ความสำคัญสูงด้านการศึกษา ระบุมาตรา ๕๔ บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา ๑๒ ปี และสอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒๘/๒๕๕๙ เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๕ ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์สำคัญ ๒ ประการคือ ๑.รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และ ๒.กำหนดทิศทางพัฒนาเด็กมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

 
 
 

          “การที่ สกศ. พยายามรวบรวมทุกหน่วยงานมาหารือร่วมกันคิดเป็นแนวทางที่ดี และทุกฝ่ายควรคิดในภาพกว้างและเป็นทิศทางเดียวกันเพื่อทลายกำแพง ไม่มีกรอบ ไม่มีแท่ง ไม่มีกระทรวง ไม่มีสังกัด เชื่อมโยงบูรณาการทำงานเพื่อวางกลไกการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเด็กอนาคตของชาติ ด้วยประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญของนักการศึกษา นักวิชาการ และทุกภาคส่วนมาช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษานำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม” นายมีชัย กล่าว

 
 

           นายมีชัย ฤชุพันธ์ กล่าวย้ำว่า สิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตราอื่น ๆ เช่น มาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา เน้นย้ำความสำคัญของทั้งครูและเด็กก่อนปฐมวัย โดย กรธ. คาดหวังสูงต่อการปฏิรูปการศึกษาที่มีครูเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการเป็นเบ้าหลอมกำหนดหน้าตาเด็กไทยที่มีคุณภาพ สอนให้มีความรู้ขั้นพื้นฐาน ตระหนักการใฝ่หาความรู้ตลอดชีวิต ครูจึงไม่ใช่แค่ผู้มีคุณวุฒิปริญญาตรีด้านคุรุศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครูสูงส่ง ปลูกฝังเด็กให้มีความใฝ่หาความรู้ รักการอ่านหนังสือ รู้จักฟัง รู้จักคิด และวิเคราะห์ โดยครูต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่กระตุ้นความสนใจการเรียนรู้ และสร้างวินัยในตัวเองตั้งแต่เด็กจึงเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพต่อไป ดังนั้น กรธ. เห็นควรต้องปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่โดยใช้มุมมองและแนวคิดจากคนภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อก้าวข้ามกับดักความคิดแบบเดิมสามารถทะลุไปถึงการพัฒนาการศึกษารูปแบบใหม่ โดยเน้นความร่วมมือจากรัฐบาล ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน และจัดตั้งกองทุนตามมาตรา ๕๔ วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

 
 

          ช่วงท้ายการปาฐกถาพิเศษ นายมีชัย ฤชุพันธ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนมาตรา ๒๖๑ ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอ ครม. ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดย กรธ. เห็นว่าคณะกรรมการอิสระที่จะเกิดขึ้นนี้ ควรวางแผนกำหนดทิศทางการศึกษาชาติ รวมทั้งยกร่างกฎหมายด้านการศึกษาอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ อีกทั้ง ๕ องค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ ควรบูรณาการวางแผนพัฒนาการศึกษาชาติในภาพรวมอย่างเป็นเอกภาพและทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แยกการศึกษาออกเป็นแท่ง ๆ ชิ้น ๆ ตามโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างให้เกิดมาตรฐานการพัฒนาการศึกษาชาติสอดคล้องกันทั้งระบบ

 
 
   

         “การขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานควรร่วมกันวางแผนกำหนดทิศทางการศึกษาชาติไปในทิศทางเดียวกัน และทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาชาติ ส่งเสริมทั้งครูและผู้เรียนพัฒนาการศึกษาไปตามแผนการศึกษาชาติ รวมทั้งปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายวสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่” ประธาน กรธ. กล่าว

   
 

         ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. จะเร่งทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าจัดทำข้อเสนอนโยบายและร่างกฎหมายการศึกษานำสู่การพัฒนาการศึกษาชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ๓ เรื่องสำคัญคือ ๑.ผลักดันยกร่างกฎหมายหลัก เช่น การคัดสรรคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นภายใน ๒ เดือน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... พระราชบัญญัติกองทุนการศึกษาตามมาตรา ๕๔ ภายใน ๑-๒ ปี ตามกำหนด ๒.เร่งผลักดันให้เกิดกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัญัติการศึกษาเอกชน พ.ศ. .... พระราชบัญญัติการศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ. .... พระราชบัญญัติอุดมศึกษา พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีทางการศึกษา พ.ศ. ....  และ ร่างพระราชบัญญัติปฐมวัย พ.ศ. .... เป็นต้น และ ๓. สกศ.เร่งขับเคลื่อนให้กฎหมายต่าง ๆ มีการบังคับใช้โดยเร็วตามโรดแมปปฏิรูปการศึกษาที่กำหนดไว้รองรับการก้าวสู่ประเทศไทย ๔.๐ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด