สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สภาการศึกษาไขปมอันดับการศึกษาไทย ๒๕๖๑

image

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากนายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “สภาการศึกษาไขปมอันดับการศึกษาไทย ๒๕๖๑” 
 
ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร) ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย นำส่งข้อมูลให้สถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (International Institute for Management Development : IMD) และองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขอให้ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) อธิบายถึงตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับ IMD และผลการจัดอันดับไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติและภูมิภาคอาเซียนปี ๒๕๖๑
       
ผอ. กวิน :    
สถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือ IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ โดยใช้แหล่งข้อมูล ๒ ประเภท คือ ๑) ข้อมูลสถิติ หรือ ข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งรวบรวมจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ผลการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for the Economic Cooperation and Development : OECD) ๒) ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงในภาคธุรกิจ จากการประเมินข้อมูลตามปัจจัยหลัก ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ๒) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ๓) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ ๔) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) พบว่า ในระดับนานาชาติ ประเทศไทยได้อันดับที่ ๓๐ จาก ๖๓ ประเทศ ลดลง ๓ อันดับเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยคงอันดับที่ ๓ รองจากประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย 
 
ส่วนอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยย่อยในด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า ประเทศไทยได้อันดับที่ ๕๖ ลดลง ๒ อันดับเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยจากตัวชี้วัดการศึกษาทั้งหมด ๑๘ ตัวชี้วัด มี ๖ ตัวชี้วัดที่ประเทศไทยได้อันดับลดลง ได้แก่ ๑) งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ๒) อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา ๓) ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา ๔) ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (TOEFL) ๕) อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป และ ๖) อัตราส่วนครูต่อนักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งในระดับอื่นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น ในระดับมัธยมศึกษา ประเทศไทยได้อันดับที่ ๖๒ ดีขึ้น ๑ อันดับเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๐ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดดังกล่าวถือเป็นจุดอ่อนที่ไทยต้องเฝ้าระวัง โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำให้ตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการเร่งหาแนวทางเพื่อเพิ่มค่าอันดับตัวชี้วัดทางการศึกษาอย่างจริงจัง  
       
ผู้ดำเนินรายการ :     อันดับความสามารถด้านการศึกษาของประเทศไทยที่ลดลง เกิดจากสาเหตุใด 
       
ผอ. กวิน :    
สาเหตุที่ทำให้อันดับตัวชี้วัดด้านการศึกษาของประเทศไทยลดลงเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายเพื่อปฏิรูปคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น แต่หากกล่าวถึงผลการจัดอันดับของสถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือ IMD พบว่า เกิดปัญหาตั้งแต่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลการศึกษา เนื่องจากสถาบันการศึกษาของไทยอยู่ภายใต้หน่วยงานหลายสังกัด เช่น กระทรวงศึกษาธิการมีสถานศึกษาที่กำกับดูแลโดยหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นอกจากนี้ ยังมีสถานศึกษาส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในกำกับกระทรวงมหาดไทย ทำให้ข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทยไม่เสถียร ขาดความแม่นยำ และไม่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้ส่งผลต่อการจัดอันดับของสถาบัน IMD ที่ยึดถือข้อมูลในรูปแบบสถิติ อีกทั้ง ผู้ประกอบการของประเทศไทยยังขาดความรับรู้เรื่องภารกิจและผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้คะแนนที่คำนวณจากความคิดเห็นของผู้บริหารในภาคธุรกิจไทยไม่สูงมากนัก 
       
ผู้ดำเนินรายการ :
    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยอย่างไร
       
ผอ. กวิน :    
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของประเทศ ได้ใช้ผลการประเมินของสถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือ IMD เป็นกรอบหลักในการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ พบว่า การเพิ่มอันดับ IMD ควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่หน่วยงานที่เป็นที่มาของข้อมูลซึ่ง IMD นำมาใช้จัดอันดับ ดังนี้ 
 
๑) ตัวชี้วัดที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลสถิติ ควรสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการยกระดับ IMD ซึ่งเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดประชุมเรื่อง “สานพลังการศึกษา เพื่อการปฏิรูปประเทศ” โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานการประชุม ได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบด้านนโยบายและแผนของกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มอันดับ IMD ด้วยการจัดทำแผนการดำเนินงานของหน่วยงานที่ช่วยเพิ่มข้อมูลเชิงสถิติที่ใช้ประเมินผล IMD และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ
 
๒) ตัวชี้วัดที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็น ควรเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานด้านการศึกษาให้กับผู้บริหารหน่วยงานของภาคเอกชนที่เป็นผู้ใช้ผลผลิตจากการพัฒนากำลังคนจากภาคการศึกษา รวมทั้งมีนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน
       
ผู้ดำเนินรายการ :
    สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล)  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ 
       
ผอ. กวิน :    
การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาเป็นวาระสำคัญที่หน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน ต้องเรียนรู้ความสำเร็จของนานาชาติ และร่วมกันกำหนดทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก 
 
สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :
    สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายกวิน เสือสกุล  ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด