สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น การปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

image

 

ผู้ดำเนินรายการ :    
รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ร่วมสนทนาประเด็น “การปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ”
 
ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาการปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ก่อนอื่นขอให้ท่านรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ) อธิบายความหมายของคำว่า “บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” คืออะไร ครอบคลุมบุคคลกลุ่มใดบ้าง
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :    

 “บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” หมายถึง ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ พัฒนา และส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาเป็นพิเศษ ได้แก่ บุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองเต็มศักยภาพ 

กลุ่มบุคคลพิการ ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๑ แบ่งเป็น ๙ ประเภท ได้แก่ ๑) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น ๒) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ๓) บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ๔) บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ ๕) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ๖) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา ๗) บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์ ๘) บุคคลออทิสติก และ ๙) บุคคลพิการซ้อน แต่ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จะแบ่งเป็น ๑๐ ประเภท โดยเพิ่มบุคคลพิการทางการได้ยินและการเห็น (Deafblind) เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ต้องการการดูแลเฉพาะทางมากขึ้น 

บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ หมายถึง ผู้ที่แสดงความสามารถอันโดดเด่นในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขาที่แสดงออกถึงศักยภาพอันสูงยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่นที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งสามารถพัฒนาสู่ความสามารถพิเศษได้  และบุคคลที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ หมายถึง ผู้ที่ด้อยโอกาส หรือขาดโอกาส หรือพลาดโอกาสในการได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้แก่ กลุ่มที่มีลักษณะเปราะบางทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และมีปัญหาเฉพาะ ต้องได้รับการพัฒนาทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการตามสิทธิขั้นพื้นฐานและสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     บุคคลที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษซึ่งเป็นกลุ่มผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และมีปัญหาเฉพาะ มีความแตกต่างกันอย่างไร 
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา :    

กลุ่มผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ทั้งจากปัญหาครอบครัวยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร หรือแนวตะเข็บชายแดน เด็กที่มีผู้ปกครองมีพฤติกรรมหรืออาชีพที่ไม่เหมาะสม ชนกลุ่มน้อย และขอทาน 

ส่วนกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม ประกอบด้วย เด็กกำพร้า เด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เยาวชนในสถานพินิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด เป็นต้น ส่วนกลุ่มปัญหาเฉพาะ อาทิ เด็กเร่ร่อน แรงงานเด็ก โสเภณีเด็ก เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ และบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์หรือสัญชาติไทย บุคคลเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่ทุกหน่วยงานควรให้การดูแลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นสังคม

       
ผู้ดำเนินรายการ :     หลักการสำคัญของการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษคืออะไร
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :    
บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการจำเป็นรายบุคคลของตนเอง โดยผ่านกระบวนการค้นหา คัดกรองหรือคัดสรรที่เที่ยงตรง เพื่อให้ได้รับบริการการศึกษาและบริการอื่นที่เกี่ยวข้องโดยนักการศึกษาและนักวิชาชีพ และได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล ทุกระดับอายุ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยอย่างเท่าเทียมกัน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     วาระเร่งด่วนของการปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จคือเรื่องใด
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :     คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้กำหนดเรื่องที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร่งด่วน หรือ Quick Win ใน ๕ ประเด็น คือ 
๑)  การจัดทำระบบคัดกรองให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะการคัดกรองกลุ่มเปราะบางและกลุ่มความสามารถพิเศษ ให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี 
๒)  การจัดระบบให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา โดยกำหนดให้จัดการเรียนรวมเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษา เพื่อป้องกันการปฏิเสธการรับเด็กบางกลุ่ม 
๓)  การแก้กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  เกี่ยวกับศูนย์การเรียน ให้เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะ โดยจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้อย่างเหมาะสม 
๔)  การจัดระบบการศึกษาเรียนรวมสำหรับกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มความสามารถพิเศษ โดยใช้แนวทางเดียวกันกับการเรียนรวมสำหรับเด็กพิการ
๕)  ให้ครูแนะแนวหรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง มีการศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรนักจิตวิทยาโรงเรียน และส่งเสริมให้โรงเรียนทั่วไปมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เพื่อบริการนักเรียนหรือช่วยแก้ปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับประชาชนที่สนใจจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในช่องทางใด
       
รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  :    

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org Facebook Fanpage“ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” อีเมล [email protected]

นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด