สกศ. ถกยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปครูทั้งระบบ

image

 

วันนี้ (๓๐ เมษายน ๒๕๖๑) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและพัฒนาการเรียนรู้ (นางเกื้อกูล ชั่งใจ) และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการปฏิรูปครูทั้งระบบ ครั้งที่ ๕/๒๕๖๑ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 

 

 

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการทุกชุดปรับรูปแบบการทำงานโดยเน้นการจัดทำข้อเสนอในรูปแบบของโครงการริเริ่มที่ส่งผลสำเร็จเร็ว หรือ Quick Win ในด้านการปฏิรูปครู นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการในสาขาวิชาที่ขาดแคลนและเน้นการผลิตบัณฑิตที่สามารถสร้างงานได้ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

 
สำหรับการประชุมในวันนี้มีวาระพิจารณาร่างข้อเสนอสาระบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปครูทั้งระบบ จำนวน ๖ มาตรา แบ่งกลุ่มตามประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐  ดังนี้ 
 
๑) การผลิตครู ให้มีองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของกระทรวงและสภานโยบายการผลิตครูแห่งชาติ รวมถึงผลิตและพัฒนาอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณธรรมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
๒) การคัดกรองครู พัฒนาองค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของกระทรวง โดยใช้ระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งมีทางเลือกในการจัดใบอนุญาติที่คำนึงถึงความต้องการจำเป็นที่แตกต่างกัน
๓) การใช้ครูและการบริหารงานบุคคล ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่นที่จูงใจครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน
และ ๔) การพัฒนาครู ปรับปรุงระบบและกลไกการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเน้นความร่วมมือเชิงเครือข่ายของสถานศึกษา ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถาบันผลิตครู
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ฯ จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดในที่ประชุมมาปรับปรุงร่างข้อเสนอสาระบัญญัติ ฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และใช้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูทั้งระบบต่อไป 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด