รองเลขาธิการสภาการศึกษา สานต่อแนวคิดคนรุ่นใหม่ภาคกลาง จุดประกายร่วมออกแบบการศึกษาอนาคต

image

        วันนี้ (๒ เมษายน ๒๕๖๑) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ กลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ : ภาคกลาง โดยได้รับเกียรติจาก นายสุกิจ อุทินทุ กรรมการสภาการศึกษา (กกส.) ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และการบริการ ดร.พวงพรรณ ขันติธรรมากร อนุ กกส. ด้านการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ และได้รับความสนใจจากผู้แทนเด็กและเยาวชนภาคกลางร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดต่อสถานการณ์การศึกษาในแต่ละระดับ ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี

 

         ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาตลอด ๒๐ กว่าปี แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอยู่มากระหว่างเมืองกับจังหวัดอื่น ๆ ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาวะทางสังคมที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีระดับคุณภาพทางการศึกษาไม่น่าพอใจเท่าที่ควรจะเป็น เหตุและปัจจัยสภาพแวดล้อมของผู้สอนคือครูเองก็ยังไม่เหมาะสม เพราะยังภาระงานอื่น ๆ นอกห้องเรียนมากมายจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเรียนการสอนและต่อเนื่องไปถึงคุณภาพการศึกษาโดยตรง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาการศึกษา และเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อการเรียน อย่างไรก็ดี สกศ. หวังว่าเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่จะเป็นทางออกสำหรับการออกแบบการเรียนรู้ในอนาคต

 

         การประชุมประชาพิจารณ์รอบนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๑ - ๓ เมษายน ๒๕๖๑ โดยมีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นตามระดับ ประเภทการศึกษา เพื่อทบทวนปัญหาด้านการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ สังเคราะห์แนวทางทางเพื่อออกแบบการเรียนในอนาคตอย่างสอดคล้องความต้องการที่แท้จริงในเชิงพื้นที่ โดยจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

          ด้าน นายสุกิจ อุทินทุ กกส. ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และการบริการ กล่าวว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีทันสมัย วิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จึงแตกต่างจากคนรุ่นก่อน และสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนมากกว่าอย่างอื่น ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัลจึงควรได้รับการออกแบบโดยผู้เรียนเอง หลักสูตรการเรียนการสอนจึงเปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ที่ได้คิดเองและลงมือทำด้วยตนเอง (Active Learning) สามารถเรียนรู้ได้จากครูผู้สอนที่มีบริบทการสอนหลากหลายรูปแบบ เช่น เรียนรู้การใช้ชีวิต เรียนรู้จากประสบการณ์ ฯลฯ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน 

 

      สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ๓ ครั้ง ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๑ และภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ได้ผลตอบรับอย่างดีจากกลุ่มตัวแทนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นโอกาสดี สกศ. เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงวิสัยทัศน์และข้อเสนแนะที่สร้างสรรค์ต่อการจัดการศึกษาทุกระดับ และวางระบบการส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ให้เกิดความสอดคล้องและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายประเทศไทย ๔.๐

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด