สกศ. เปิดรับฟังทัศนะเด็กรุ่นใหม่ ณ จังหวัดเชียงใหม่

image

 วันนี้  ๒๓ - ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๑ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้กลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๑ โดยมี นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้เป็นประธานการประชุม ณ ห้องสุพรรณิการ์ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ มีนายไพรัช  ใหม่ชมภู รักษาการนายก อบจ. เชียงใหม่ และกรรมการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ รศ. ดร. อรรณพ พงษ์วาท กรรมการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่  และนายชัชชาล ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เป็นวิทยากร

 




 

นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า

ปัจจุบันเป็นยุคดิจิตัล โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังน้ันการศึกษาจึงต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาควรรับฟังเสียงจากผู้เรียนโดยตรง ว่าการศึกษาที่ผู้เรียนต้องการ และคิดว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับตน ควรเป็นอย่างไร ทั้งในด้านหลักสูตร การเรียนการสอน ครูควรสอนแบบใด สื่อ การวัดผล รวมถึงทักษะใดที่ผู้เรียนควรมีในอนาคต รูปแบบการเรียนการสอนแบบใดที่ผู้เรียนคิดว่าเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ  มีความสุข เมื่อจบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพได้ ด้วยเหตุนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงจัดประชุมระดมความคิดเห็นของผู้เรียนใน ๔ ภูมิภาค ครั้งนี้ภาคเหนือเป็นภาคที่ ๒ โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้เรียนจากมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน อุดมศึกษา นักเรียนที่พลาดโอกาสเรียนในระบบ และนักเรียนจากชนเผ่าต่าง ๆเข้าร่วมให้ความคิดเห็น ความคิดเห็นที่ได้สำนักงานฯ จะรวบรวมเพื่อเป็นข้อมูลในการปฏิรูปการศึกษาต่อไป

 

 
 

 

นายไพรัช  ใหม่ชมภู รักษาการนายก อบจ. เชียงใหม่และกรรมการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวโดยสรุปว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยน่าเป็นห่วง เนื่องจากไทยได้ที่แปดของอาเซียน มากกว่าประเทศลาว พม่า ไทยไม่ได้แพ้เรื่องการสอบแข่งแต่แพ้เรื่องพฤติกรรม คุณลักษณะ ความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบของเด็กไทย ซึ่งสู้เด็กอาเซียนไม่ได้  ขณะนี้ผู้ใหญ่กำลังคิดว่าจะปฏิรูป       การศึกษาอย่างไร แต่จริงๆ ควรให้เด็กมีส่วนร่วมคิดให้มาก เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องเผชิญ ด้วยเหตุนี้ วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เด็กและเยาวชนจะมาร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขอให้เด็กเยาวชนช่วยกันแสดงความคิดเห็นให้เต็มที่เพื่อให้เกิดรูปแบบการศึกษาที่เด็กและเยาวชนมุ่งหวัง 

 

รศ. ดร. อรรณพ พงษ์วาท กรรมการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวโดยสรุปว่า ต้องฟังเสียงเด็กว่าเด็กต้องการอะไร จะเห็นได้ว่าเด็กไทยยังไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้บางส่วนก็เป็นเพราะผู้ปกครองและโรงเรียน ดังนั้นคิดควรสนับสนุนให้เด็กกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตน และมีส่วนร่วมวางอนาคตการศึกษาของตน แต่รูปแบบการเรียนรู้จะเป็นแบบใดก็ตามการเรียนรู้นั้นต้องสามารถแยกแยะได้ว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี จริงหรือไม่จริงดังที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลมสูตรไว้ ว่าอย่าเชื่อสิ่งใดโดยง่าย แต่การจะเชื่อต้องใช้หลักโยนิโสมนสิการมาคิดพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ

 

  นายชัชชาล ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวโดยสรุปว่า เด็กทุกคนไม่เหมือนกัน มีทั้งอยู่ในเมือง ชนบท บนดอย ฯลฯ การศีกษาจึงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็ก ที่ผ่านมาการศึกษาเหมือนกันทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่แต่ละภาคมีบริบทต่างกัน การศึกษาไม่ได้อยู่แต่ละในห้องเรียน การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกทีทุกเวลา ตลอดชีวิต สิ่งสำคัญคือ ต้องค้นพบตัวเองว่า เรารัก ชอบ ถนัด ฝันอะไร ทุกคนเก่งแต่ให้ค้นหาความเก่งของตนให้เจอ ค้นหาต่อมใช่ให้เจอ และในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีทักษะเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งเป็นส่ิงสำคัญมาก  เมื่อเจออะไรให้ช่างสังเกต สงสัย และพยายามหาคำตอบที่อยากรู้ ครูต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษา และรัฐควรเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน ฝากให้เด็กเยาวชนเป็นผู้เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาตลอดชีวิต 

 

นายศุภกรณ์ คำเพลิง ประธานเด็กเยาวชน เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นโดยสรุปว่า มี ๓ เรื่องที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ไม่อยากให้ความสำเร็จทางการศึกษามุ่งเน้นแต่เกรดเฉลี่ย ต้องมองที่วิธีการ กระบวน ทักษะด้วยรวมถึงการต่อยอดไปให้ชีวิตประจำวัน   ประการถัดไปคือไม่อยากเป็นหนูทดลองในระบบการศึกษา ผู้ใหญ่มักปรับหลักสูตรตลอดบ่อยครั้ง ปรับเกณฑ์ผ่านไม่ผ่าน ดีไม่ดี เด็กที่ถูกทดลองกับหลักสูตร ผลเสียก็เกิดกับเด็ก และสามการศึกษาควรเท่าเทียม ไม่มีเรื่องของฐานะรวยจน ทุกคนควรได้รับการศึกษา

 

ท่านสามารถดูภาพบรรยาการได้ที่

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด