สกศ. ทบทวนปัญหาการผลิต พัฒนา คัดกรอง และการใช้ครู เตรียมปฏิรูปครูทั้งระบบ

image

 

 

         

วันนี้ (วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑) ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง การปฏิรูปครูทั้งระบบ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการปฏิรูปครูทั้งระบบ ทั้งการผลิต การพัฒนา และการสรรหา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าว เพื่อนำผลการประชุมไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและจัดทำนโยบายการศึกษาของประเทศ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและข้าราชการจากองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานระดับภูมิภาค จังหวัด ท้องถิ่น ครู อาจารย์ ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และมูลนิธิหรือสมาคมด้านการศึกษา เข้าร่วมการประชุม กว่า ๑๒๐ คน

 

 

 

          ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดการประชุมทางวิชาการมาโดยตลอด ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งเป็นประเด็นทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ วันนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์  ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทางด้านการศึกษามาให้ข้อคิดเห็น และนำเสนอสาระที่เป็นประโยชน์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีภารกิจหลักในการจัดทำแผนการศึกษาชาติ และได้ประกาศใช้แล้ว ซึ่งเป็นแผน ๒๐ ปี มาตรฐานการศึกษาชาติ ซึ่งอยู่ในขั้นการดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง กอปศ. มีข้อเสนอต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ดำเนินการไปแล้วนั้น คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดย กอปศ. มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานใน ๕ เรื่อง ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครูอาจารย์ เด็กเล็ก ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และการเรียนการสอน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษายังเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ กอปศ. กำลังร่างกฎหมาย พรบ.การปฐมวัย พ.ศ. ...  นอกจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษายังเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมีพลอากาศเอกประจิณ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

 

 

           ดร.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ได้แบ่งปัญหาเรื่องครูออกเป็น ๑) คุณภาพของครู เช่น การประเมินครู การเลื่อนตำแหน่ง การสร้างแรงจูงใจ ครูอยู่ภายใต้ระบบราชการทำให้ขาดความคล่องตัวในการพัฒนา  ๒) การผลิตและพัฒนาครู การผลิตครูมีมากแต่คุณภาพลดลง ผลิตเกินความต้องการ บัณฑิตครูบางสาขายังขาดแคลนและไม่มีคุณภาพ ครูรุ่นใหม่ยังขาดทักษะการสอน ฯลฯ ๓) การบริหารจัดการ การประเมินผลเน้นเชิงปริมาณมากกว่ามุ่งผลสัมฤทธิ์ การกระจายอำนาจเป็นเพียงรูปแบบ โดยมีข้อเสนอ ๓ ด้าน ด้านที่ ๑ ยกระดับคุณภาพครู คือ การเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารและครู ส่งเสริมระบบการพัฒนาครูต่อเนื่องที่เน้นสมรรถนะ ใช้ระบบดิจิทัลในการสอนโดยครูที่เก่งและครูที่โรงรียนเป็นครูพี่เลี้ยง ด้านที่  ๒ ระบบการผลิตครู  กำหนดมาตรการและสนับสนุนการผลิตครูด้วยระบบโควต้าที่สอดคล้องกับศักยภาพของสถาบัน สถาบันผลิตครูควรเน้นการฝึกอบรมและพัฒนาครู กำหนดนโยบายการผลิตครูด้วยระบบปิดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในลักษณะคุรุทายาท นำกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามาเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพครู และด้านที่ ๓ การปรับปรุงระบบการพัฒนาวิชาชีพครู ปรับปรุงระบบการประเมิน การส่งเสริมความก้าวหน้าของครู ปรับปรุงบทบาทและภารกิจคุรุสภา ให้เป็นสภานโยบาย

 

 

 

          ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวโดยสรุปว่า ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน คือ พ่อแม่ยังยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิม มีความตั้งใจอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดีในกรุงเทพ เด็กต่างจังหวัดขาดโอกาสเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษที่ดี ดังนั้นเราต้องมีความเชื่อมั่นในตัวครูทุกคนว่าครูมีความสามารถในการสอนนักเรียน รวมถึงต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน จากประวัติการศึกษาของตัวเอง เมื่ออดีตเป็นนักศึกษาที่เกือบโดนรีไทน์จนเข้ารียนที่ MIT ได้ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่น และแรงบันดาลใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเชื่อว่าการศึกษาไทยปฏิรูปได้

 

 

 

          ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์  ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวโดยสรุปว่า มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปครูมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ยังมีมุมมองที่คิดต่างกันหลายเรื่อง และเรื่องที่เป็นปัญหาวิกฤตของครูในขณะนี้ คือ การผลิตครู ผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ครูสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนไม่ทั่วถึง สถาบันผลิตครูต้องสอนครูให้สามารถสอนนักเรียนในการตั้งเป้าหมายชีวิตได้ สร้างระบบและรูปแบบการผลิตครูสมรรถนะสูง มีระบบทางเลือก มีสถาบันการผลิตครูโดยเฉพาะ การคัดกรองเข้าสู่ระบบวิชาชีพและสถานศึกษาไม่ค่อยพึงประสงค์ ปฏิรูปการคัดกรองครู ปฏิรูปการใช้ครู ครูไม่ตรงตามความต้องการของสถานศึกษา อยากฝากว่าการปฏิรูปครูทั้งระบบต้องมีอะไรใหม่ ไม่ยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้จะต้องมีกลไกในการกำกับ ดูแล ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต พัฒนา คัดกรอง และการใช้ครู

           โดยที่ประชุมได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปครูอย่างหลากหลาย อาทิ  ในเรื่องการผลิตครู ต้องการให้ความสำคัญกับสถาบันผลิตครูอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ การสอบบรรจุครูยังไม่ตอบโจทย์การคัดเลือกครู จึงอยากให้มีการสอบภาคปฏิบัติเพื่อให้ได้ครูตรงตามความต้องการของโรงเรียนอย่างแท้จริง เรื่องระบบตำแหน่งครู เพื่อให้ได้ครูที่ทำหน้าที่สอนอย่างเดียว และได้ครูธุรการมาทำหน้าที่เรื่องธุรการโดยเฉพาะ การทำงานของเขตต้องทำตามใบสั่งที่มีแต่เรื่องเร่งด่วน ทำให้เขตพื้นที่ปฏิบัติงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเรื่องของนโยบายที่มีการเปลี่ยนไปมาทำให้หน่วยปฏิบัติต้องเปลี่ยนการทำงานอยู่ตลอด

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด