สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ        :       

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากคุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต”

ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต” ขอเรียนถามท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (คุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์) ถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการเสวนาดังกล่าว

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา    :    

ตามที่ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ทำให้ทุกคนต้องพัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ภาคอุตสาหกรรมกับภาคผู้ผลิตจึงหารือร่วมกัน เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการแรงงานในปัจจุบัน

       
ผู้ดำเนินรายการ         :       

ความต้องการแรงงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคตเป็นอย่างไร ทักษะหรือสาขาวิชาใดที่มีความจำเป็นต้องเร่งผลิตกำลังคนให้มากขึ้น

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา     :       

การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นคนพลเมืองกับการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถนะ ตามแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เช่น 3R 8C  ซึ่งจะต้องดำเนินการในทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา ขณะเดียวกัน มีอีกหลายสาขาวิชาที่ต้องผลักดันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กลุ่มสาขาวิชาดังกล่าวเรียกว่า First S-curve หรือ การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ จำนวน ๕ สาขา ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร และ New S-curve หรือการเติมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จำนวน ๕ สาขา ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร โดยรัฐบาลต้องการให้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จึงได้เชิญบุคลากรจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาเป็นวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้ เพื่อนำเสนอเรื่องการปรับปรุงแนวทางผลิตพัฒนากำลังคนใน ๒ กลุ่มดังกล่าว ขณะนี้ทาง สกศ. กำลังเร่งพัฒนา ๘ กลุ่มจังหวัด รวมทั้งเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อสนับสนุนการวางรากฐานการเชื่อมโยงการคมนาคมสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขณะนี้ต้องการแรงงานที่มีทักษะทั้งระดับกลางและระดับสูงเป็นจำนวนมาก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์อุดม คชินทร) เน้นเรื่องการผลิตบุคลากรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมมือกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในการผลิตหลักสูตรหรือสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อพัฒนาระบบรางและสาขาอื่น ๆ ประมาณ ๖ สาขา นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีกำลังคนที่สามารถทำงานและตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

       
ผู้ดำเนินรายการ         :       

การพัฒนากำลังคนในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาแตกต่างกันอย่างไร

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา     :       

การพัฒนาบุคลากรทั้งสองระดับต้องดำเนินการควบคู่กัน ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ พบว่า ตลาดแรงงานขาดแคลนบัณฑิตจากอาชีวศึกษาเป็นจำนวนมาก จึงต้องเพิ่มสัดส่วนของการผลิตกำลังบัณฑิตระดับอาชีวศึกษาในหลายสาขาเพิ่มมากขึ้น เช่น โลจิสติกส์อากาศยาน ระบบราง เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องเร่งพัฒนาบัณฑิตทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ในระดับอุดมศึกษาเน้นระดับปริญญาตรีที่มีความรู้ ความสามารถในสาขาวิศวกรรมศาสตร์เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ต้องเพิ่มการผลิตบุคลากรระดับปริญญาโทด้านการวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน

       
ผู้ดำเนินรายการ         :       

ค่านิยมของคนไทยที่ต้องการส่งบุตรหลานให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากกว่าอาชีวศึกษาจะทำให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอย่างไร

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :           

ค่านิยมเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากขณะนี้กลุ่มผู้ว่างงานมากที่สุดคือบัณฑิตระดับปริญญาตรี จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ อีกประเด็นหนึ่ง ปัจจุบันมีบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ ร้อยละ ๗๐ ขณะที่มีบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร้อยละ ๓๐ ทั้งนี้มีความต้องการบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ ร้อยละ ๓๐ และ สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร้อยละ ๗๐ จึงต้องเร่งปรับสัดส่วนการผลิตบุคลากรให้เป็นร้อยละ ๕๐ ต่อ ๕๐ ให้สำเร็จในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า

       
ผู้ดำเนินรายการ         :       

ภาครัฐมีทิศทางพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอย่างไร

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา     :    

 ขณะนี้ หน่วยงานทางการศึกษาไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้ทันท่วงที ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดงานเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อาชีพที่เคยเป็นที่นิยมในสมัยก่อนกำลังหายไปจากสังคม การศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวอย่างยิ่งเพราะไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่และทุกเวลารวมทั้งต้องปรับหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ มีระบบเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อเอื้อต่อผู้เรียนที่มาจากหลายระบบการศึกษา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังพยายามสร้างคลังข้อมูลให้นักเรียน นักศึกษา มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

 

       
ผู้ดำเนินรายการ         :    

ภาครัฐมีความกังวลต่อการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น ดิจิทัล สมาร์ทฟาร์มมิ่งอย่างไร

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา     :    

ขณะนี้ ภาครัฐพยายามเชิญทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและร่วมมือกันสนับสนุนการศึกษาในสาขาดังกล่าว ทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม โดยเชิญช่างที่มีความชำนาญมาร่วมพัฒนาทักษะครู  หรือให้อาจารย์พิเศษจัดการเรียนการสอนในสถานที่ปฏิบัติงาน เช่น ภาคอากาศยาน ต้องขอความร่วมมือจากทางสถาบันการบินพลเรือนหรือทางสายการบินต่าง ๆ ที่ดำเนินการในเชิงธุรกิจในประเทศไทยเข้ามาร่วมมือช่วยดำเนินการ เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้

       
ผู้ดำเนินรายการ            :    

 สถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมได้สะท้อนปัญหาของคุณภาพบัณฑิตอย่างไร        

ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา    :    

 บัณฑิตควรเพิ่มความรู้ความสามารถในด้านภาษาและเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในระดับอุดมศึกษากำลังปรับหลักสูตร เช่น สาขาคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ธุรกิจคอมพิวเตอร์แบบเดิมแต่ให้ความรู้ทางดิจิทัลเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ในรายวิชาการศึกษาทั่วไปได้เพิ่มการสอนภาษาอังกฤษและทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy มากยิ่งขึ้น

 

       
ผู้ดำเนินรายการ            :       

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีแนวทางขยายผลจากการเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ต่อไปอย่างไร

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา    :    

    การเสวนาวิชาการครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ขณะนี้ได้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพและนำมาใช้ออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะ นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning)การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) เพื่อผลิตบุคลากรนักปฏิบัติ (Hands-on) ให้สามารถทำงานได้และมีทักษะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการทั้งนี้ จะต้องพัฒนาภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษา เพื่อให้มีผู้สนใจศึกษาต่อในระบบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

       
ผู้ดำเนินรายการ    :    

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (คุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา    :       

อดีตนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ (ลี กวนยู) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่มีการศึกษาไม่ได้หมายถึงบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต สังคมไทยเช่นกัน ควรมุ่งเน้นคนที่ทำงานได้ ทำงานเป็น มากกว่าปริญญาบัตร แนวคิดเช่นนี้จะช่วยสานฝันของคนไทยและรัฐบาลที่จะก้าวสู่ความเป็นประเทศไทย ๔.๐ อย่างแท้จริง และทัดเทียมกับหลายประเทศที่กำลังพยายามผลิตบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต หรือต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝันโดยสภาการศึกษา”

 

ผู้ดำเนินรายการ    :        สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ คุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษาที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
     

.......................................................................................

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด