สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น แนวทางการประยุกต์ใช้การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของประเทศแคนาดา

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ :    

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากคุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “แนวทางการประยุกต์ใช้การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของประเทศแคนาดา” 

ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ : กรณีศึกษาประเทศแคนาดา” ขอให้ท่านอธิบายถึงนิยามของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเป็นอย่างไร

       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :    

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) เด็กที่มีความสามารถพิเศษ ๒) เด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ หรืออาจเรียกว่า เด็กที่มีความพิการในระดับต่าง ๆ และ ๓) เด็กยากจนและด้อยโอกาส 

สำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่กล่าวถึงในการประชุมครั้งนี้ คือ เด็กกลุ่มที่ ๒ ซึ่งเป็นเด็กที่มีความบกพร่องด้านต่าง ๆ อาทิ การได้ยิน การพูด การสื่อสารทางด้านภาษา ด้านสติปัญญา การบกพร่องทางการเรียนรู้ อารมณ์ สังคม สมาธิสั้น ออทิสติก และความพิการซ้ำซ้อน 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     การประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ : กรณีศึกษาประเทศแคนาดา” มีสาระสำคัญอย่างไร 
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :
   

การประชุมในวันนั้นได้รับเกียรติจาก Mr. Peter Coll อาจารย์ใหญ่ประจำโรงเรียน Landmark East School ประเทศแคนาดา มาเป็นวิทยากรบรรยายเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ซึ่งแท้จริงแล้วการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จ ทุกฝ่ายไม่ควรคาดหวังเฉพาะเด็กที่มีความฉลาดทางสติปัญญาสูง (Intelligence Quotient หรือ IQ) เพราะยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ ซึ่งควรจะได้รับสิทธิ์ในการเรียนรู้และพัฒนาตามความเหมาะสม 

Mr. Peter Coll ได้เสนอแนะเรื่องเครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินผลการเรียนรู้ และได้กล่าวว่า การวัด IQ โดยนักจิตวิทยาจากกระทรวงสาธารณสุข แล้วนำผลของ IQ มาใช้ในโรงเรียนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ควรจะมีการวัดโดยใช้แบบทดสอบเฉพาะ เช่น ในประเทศแคนาดาใช้แบบทดสอบชื่อ WISC การวัดด้วยเครื่องมือที่หลากหลายจะช่วยสังเกตและออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี 

       
ผู้ดำเนินรายการ :
    การจัดการเรียนการสอนในประเทศแคนาดามีบริบทที่สัมพันธ์กับการศึกษาของประเทศไทยอย่างไร
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :    

ประเทศไทยมีการวัดและประเมินผลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังเป็นการวัดระดับ IQ จึงอาจต้องนำแนวคิดเครื่องมือวัดผลที่ใช้ในยุโรปและประเทศแคนาดา มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องการสังเกตพฤติกรรมเด็กในชั้นเรียน แต่มักพบปัญหาการมีชั้นเรียนขนาดใหญ่ และเนื่องจากการจัดการศึกษาของไทยมี ๒ ระบบ เหมือนประเทศอื่นทั่วโลก คือ หากเด็กมีปัญหาทางการเรียนค่อนข้างรุนแรง จะให้เด็กเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนศึกษาพิเศษแต่ละประเภท แต่ยังคงมีความเชื่อว่า เด็กที่มีความบกพร่องควรจะเรียนร่วมกับเด็กในชั้นเรียนปกติ แต่เมื่อมีชั้นเรียนขนาดใหญ่ ครูผู้สอนจะไม่สามารถดูแลเด็กเป็นรายบุคคลได้ ต่างจากในประเทศแคนาดา เช่น โรงเรียน Landmark East School มีเด็กนักเรียน จำนวน ๗๐ คน ครูผู้สอน ๒๒ คน ฉะนั้น ครู ๑ คน ดูแลเด็กเพียง ๕ – ๖ คน ทำให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างใกล้ชิด 

นอกจากนี้ ในต่างประเทศ เมื่อผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานของตนอาจมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะนำเด็กเข้าสู่กระบวนการทดสอบเฉพาะทาง เพื่อแก้ไขความบกพร่องและพัฒนาเด็กต่อไป ต่างจากผู้ปกครองไทยซึ่งมักปิดบังความบกพร่องของบุตรหลาน ทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะต่อไป 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     ประเทศไทยควรจะปรับการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :    

รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการพัฒนาการบริการพื้นฐานเพื่อรองรับความพิการในแต่ละประเภท ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากผู้พิการเพื่อขอรับบริการให้ทั่วถึงตามสิทธิที่พึงมี 

ในระบบโรงเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ โดยมอบหมายให้ท่านเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์) เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อประสานงานของคณะกรรมการเข้ากับงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ในการออกแบบโครงการการบริหารจัดการการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ทั้งผู้ที่มีความสามารถพิเศษ  ผู้ที่มีความบกพร่องด้านต่าง ๆ และผู้ที่ยากจนและด้อยโอกาส ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะนำประเด็นที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการประชุมครั้งนี้มาจัดทำข้อเสนอแนวทางเพื่อให้หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง นำไปใช้ให้เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น

       
ผู้ดำเนินรายการ :
    การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของประเทศแคนาดา มีวิธีวัดและประเมินผลการเรียนรู้อย่างไร 
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :    

โรงเรียนรูปแบบทั่วไปของประเทศแคนาดามีทั้งหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรเฉพาะ ซึ่งต้องวางแผนการพัฒนาเด็กรายบุคคล หากพบเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ทางโรงเรียนจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทำให้เด็กเหล่านั้นได้พัฒนาตนเองตามสมรรถนะของตน การใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากหลายจะช่วยให้ทราบถึงความสามารถด้านอื่น ๆ ของเด็ก อีกทั้งยังช่วยแก้ไขความบกพร่องให้ดีขึ้นตามลำดับ

ผู้ดำเนินรายการ :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีแนวทางการประยุกต์ใช้การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของประเทศแคนาดา ให้เข้ากับบริบทการจัดการศึกษาของประเทศไทยอย่างไร
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     เริ่มจากการใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการวัด IQ โดยนักจิตวิทยาจากกระทรวงสาธารณสุข การสังเกตพฤติกรรมเด็กในชั้นเรียน การจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล รวมถึงการเตรียมครูผู้สอนให้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เตรียมเข้าไปดูแลในเบื้องต้น โดยคำนึงถึงว่าการยกระดับการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียม
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สถานการณ์เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในประเทศไทยเป็นอย่างไร
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     ขณะนี้เด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities หรือ LD) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลและผู้ปกครองต้องร่วมกันเอาใจใส่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อลดปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ เพราะหากไม่เร่งแก้ไขอาจทำให้เด็กเรียนรู้ช้ากว่าเด็กปกติมากขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ :
   
สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (คุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :
   

อยากให้ทุกท่านให้โอกาสเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ขอให้มองว่า เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลและส่งเสริมทักษะในชีวิตประจำวันเช่นเดียวลูกหลานของเรา เด็กทุกคนมีศักยภาพ และไม่ใช่ปัญหาของสังคม ซึ่งทางรัฐบาลได้กำหนดให้หน่วยงานทางราชการรับผู้พิการเข้าทำงาน รวมทั้งมีการติดตามผลการทำงานของผู้พิการเช่นเดียวกับบุคลากรทั่วไป คาดหวังว่า ทุกท่านจะเอื้อเฟื้อผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข 


สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์  www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ คุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์  ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................
       
       

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด