สกศ. เปิดเวทีเรียนรู้ “การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ : กรณีศึกษาประเทศแคนาดา”

image

 
 
วันนี้ (๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์) เป็นประธานการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ : กรณีศึกษาประเทศแคนาดา” โดยมี มร.ปีเตอร์ โคลล์ (Mr. Peter Coll) อาจารย์ใหญ่ประจำโรงเรียนแลนด์มาร์ค อีสต์ (Landmark East School) ประเทศแคนาดา ให้เกียรติเป็นวิทยากร พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานจัดการศึกษา ผู้บริหาร และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สกศ. 
 
นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ และแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยได้ประสานงานกับสถานศึกษาในประเทศแคนาดา และ สกศ. เพื่อจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษให้มีทักษะที่เหมาะสมตามมาตรฐานการศึกษา โดย สกศ. จะสรุปผลการประชุมที่ได้ไปจัดทำนโยบายทางการศึกษาและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป  
 
จากนั้น มร.ปีเตอร์ โคลล์ นำเสนอการจัดการศึกษาของประเทศแคนาดาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย มีหลักการสำคัญคือ การออกแบบการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล โดยครูผู้สอนต้องสังเกตความต้องการจำเป็นพิเศษของเด็กเพื่อช่วยลดช่องว่างทางความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะจนกว่าเด็กจะสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติได้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมักมีความบกพร่องใน ๖ ด้าน ได้แก่ ภาษา การคำนวณ การเขียน การได้ยิน สมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities - LD) โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ เด็กที่มีความบกพร่องด้านภาษา ขณะที่เด็กกลุ่มสมาธิสั้นมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือประเมินทักษะเพื่อช่วยชี้ว่าเด็กคนใดมีปัญหาในการเรียนรู้  ในยุโรปตะวันตกและประเทศแคนาดา ใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า “The WISC” เพื่อประเมินผลการศึกษาของเด็กใน ๕ ด้าน ได้แก่ ๑) ความสามารถในการสื่อสารและการเข้าใจภาษา ๒) ความสามารถในการเข้าใจภาพจากการมองเห็น ๓) ความสามารถในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ๔) ความสามารถด้านการเชื่อมโยงประสบการณ์และความรู้เพื่อแก้ไขปัญหา  และ ๕) ความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ระบบการศึกษาของประเทศแคนาดาแบ่งการประเมินผลเป็น ๓ กลุ่ม ๑) กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน หรือเด็กปฐมวัย อายุ ๓ – ๕ ปี  ๒) เด็กในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ – มัธยมศึกษาปีที่ ๖ และ ๓) กลุ่มผู้เรียนนอกชั้นเรียน อายุ ๑๕ – ๘๐ ปี อย่างไรก็ตาม การออกแบบการเรียนรู้เชิงสังเกตร่วมกับการทดสอบสติปัญญา (IQ) จะช่วยค้นพบวิถีของการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถศึกษาต่อในระบบที่ตนเองคาดหวังไว้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีนักจิตวิทยาวิเคราะห์ร่วมด้วย  
 
“สิ่งที่น่ากังวลสำหรับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในประเทศไทยคือ ชั้นเรียนของไทยมีจำนวนนักเรียนค่อนข้างมาก ทำให้ครูไม่สามารถดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การออกแบบการศึกษาเฉพาะสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้ทำได้ยากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีตัวชี้วัดความสามารถพื้นฐานของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในแต่ละด้าน เพื่อสามารถแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาช่วยจัดการศึกษาในสาขาวิชาที่จุดแข็งและจุดอ่อนของเด็กแต่ละคนได้” มร.ปีเตอร์ กล่าว 
 
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่
 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด