รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินัดแรกของปี ๒๕๖๑

image

วันนี้ (๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการประชุม ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ชั้น ๓ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล 


​ 



พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ  กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกำลังคนกลุ่มสาขาอาชีพทั้ง ๗ ด้าน ได้แก่


 

   

     ๑) กลุ่มโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายจัดหลักทำหลักสูตรเร่งด่วนและพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับตลาดแรงงานอนาคต โดยคัดเลือกอาชีพจากแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๕ มีความต้องการอาชีพด้านระบบรางเร่งด่วนที่สุด เช่น วิศวกร ๔,๕๐๐ ช่างเทคนิค ๙,๑๐๐ เจ้าหน้าที่สถานี ๑๑,๒๐๐ อัตรา ซึ่งจำเป็นต้องเร่งวางระบบการสร้างคนในระบบฐานรากให้มั่นคงที่สามารถตอบโจทย์กำลังคนระยะยาว ๑๕ - ๒๐ ปี และวางแผนผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงานระบบรางปัจจุบัน


     ๒) กลุ่มโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป้าหมายผลิต ๓ สาขาวิชาชีพ ๑.พนักงานควบคุมยานพาหนะมืออาชีพ (Smart Driver) เน้นยกระดับผู้ขับขี่รถบรรทุกที่มีอายุ ๒๒ ปี ขึ้นไป ให้มีความรู้ด้านเครื่องยนต์ นำมาอบรม ๒๘๐ ชั่วโมง เพื่อสร้างจิตสำนึกมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง ๒.นักจัดการโลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตร (Cold Chain) เน้นพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน  และ ๓.นักวางแผนอุปสงค์ (Demand Planer) เน้นประเมินความต้องการของผู้บริโภคผ่านระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) รองรับโลจิสติกส์ ๔.๐ เพื่อเพิ่มคุณค่าห่วงโซ่อุปทานที่มีการพัฒนาทั้งระบบ

 


     ๓) กลุ่มหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีการคาดการณ์ความต้องการแรงงานช่างเทคนิค และช่างสายสนับสนุน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เช่น ช่างซ่อมบำรุง และช่างออกแบบ ซึ่งยังไม่มีสถาบันอาชีวศึกษาจัดทำหลักสูตรรองรับวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดังนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรเร่งด่วน เพราะมีเพียงสถาบันเทคโนโลยีไทย-เยอรมันแห่งเดียวที่เป็นสถาบันหลักระดับปริญญาเท่านั้นในการประสานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคนิค เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย โดยเร่งขยายผลเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพหุ่นยนต์ฯ เพื่อผลิตกำลังคนด้านนี้ ถือเป็นความท้ายทายของประเทศ


     ๔) กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และดิจิทัลคอนเทนต์ เป้าหมายเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับการประกอบอาชีพก้าวไปด้วยกันตอบโจทย์ประเทศไทย ๔.๐ ประเมินความต้องการอาชีพที่ต้องผลิตเร่งด่วนภายใน ๑ ปี คือ ผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า และประเมินจากความต้องกากำลังคนด้านดิจิทัลคอนเทนต์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) เฉลี่ยปีละ ๒๐,๐๐๐ คน  ซึ่งเป็นการขาดแคลนกำลังคนอย่างรุนแรง เห็นควรดึงสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาช่วยอบรมด้านวิชาชีพไอซีทีเพิ่มเติม


     ๕) กลุ่มอาหารและเกษตร เป้าหมายผลิตเกษตรกรที่เป็นเจ้าของกิจการของตนเอง (Entrepreneur) ใน ๔ อาชีพ ๑.ผู้ประกอบการฟาร์ม (Smart Farmer 
Entrepreneur) ๒.ผู้ประกอบการอาหาร (Smart Food Entrepreneur) ๓.นักจัดการเกษตร (Farm Manager) และ ๔.นักจัดการอาหาร (Food Manager) โดยการขับเคลื่อนระยะเร่งด่วนผลิตผู้ประกอบการฟาร์มอัจฉริยะ รองรับสมรรถนะและความปลอดภัยอาหารในการแข่งขันธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว


     ๖) กลุ่มปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน มีความเกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตขนาดใหญ่ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งเน้นผลิตกำลังคนในอุตสาหกรรมที่มีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม และใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์ 


     และ ๗) กลุ่มแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ มุ่งเน้นผลิตกำลังคน ๔ อาชีพ ครอบคลุมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ๑.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ๒.การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ๓.การบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logitics) และ ๔.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) โดยพัฒนากำลังคนเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และเชื่อมโยงกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ทั้งระบบและได้มาตรฐานสากล

 





     นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรายงานความก้าวหน้าการปรับปรุงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับ NQF 
โดยยกร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... มุ่งเน้นพัฒนา ๓ ด้าน คือ ๑) ความรู้  ๒) ทักษะ และ ๓) ความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ 


     ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รายงานต่อที่ประชุมว่า สอศ. ได้เร่งปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ให้มีความครอบคลุมหลักสูตรวิชาชีพทุกสาขาให้มีความยึดโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงานและ NQF 


     ตลอดจนรายงานความก้าวหน้าการเทียบเคียง NQF กับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ระยะที่ ๔ และความคืบหน้าการนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาช่างอากาศยานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยแผนแม่บทการพัฒนาช่างอากาศยาน ขณะนี้มีหลายสถาบันอาชีวศึกษาจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านช่างอากาศยานที่ยังกระจัดกระจายและมีความหลากหลาย แตกต่างกันไปตามศักยภาพของแต่ละสถาบัน ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมโยงหลักสูตรแต่ละสถาบันบูรณาการให้เป็นทิศทางเดียวกัน


     "การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จะรอแต่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ ต้องร่วมกันขับเคลื่อนทั้งระบบคือทั้งฝ่ายผลิตกำลังคน และฝ่ายใช้กำลังคนได้มาร่วมกันทำงาน สาขาอาชีพที่กำหนดไว้ทั้ง ๗ กลุ่มอาชีพ คาดว่าจะเริ่มต้นขับเคลื่อนได้ทันภายในปี ๒๕๖๑ และอาจมีการศึกษาอาชีพใหม่ ๆ ที่มากกว่า New-S Curve ที่ต้องนำข้อมูลมาปรึกษาหารือกันจากงานวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รวมทั้งของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้หารือร่วมกันต่อไป" พลอากาศเอก ประจิน กล่าว

ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด