สกศ. ประชุมทางวิชาการ “การจัดการเรียนรู้รูปแบบอะคิตะโมเดล “AKITA MODEL”: สู่แนวทางการประยุกต์ใช้ในบริบทประเทศไทย”

image

            วันนี้ (๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมี Mr.Susumu Yoneta ศึกษาธิการจังหวัดอะคิตะ และคณะเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษา คณะกรรมการการศึกษา จังหวัดอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานจัดการศึกษา ผู้บริหารและข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

         ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมเรียนรู้แนวคิดและรูปแบบการปฏิบัติที่น่าสนใจ โดยการนำรูปแบบอะคิตะโมเดล (AKITA MODEL) หรือการเรียนการสอนเชิงรุกของจังหวัดอะคิตะ (AKITA Action) เป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้ร่วมเรียนรู้ เพื่อเป็นแนวทางการประยุต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ในขณะนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ สร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ตามยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ ๔.๐

         จากนั้น Mr.Susumu Yoneta นำเสนอรูปแบบ “AKITA MODEL” โดยใช้กลยุทธ์ “AKITA Action” กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้จัดการสำรวจความสามารถทางวิชาการและสถานการณ์การเรียนรู้ระดับประเทศทุกปี เพื่อพัฒนาการศึกษาและตรวจสอบประสิทธิผลของนโยบายทางการศึกษา พบว่า เด็กนักเรียนของจังหวัดอะคิตะได้คะแนนระดับสูงกว่าโรงเรียนอื่น ซึ่งโรงเรียนของจังหวัดอะคิตะเป็นการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกและเป็นรูปแบบการสอนที่พัฒนามาจากการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ทำให้จังหวัดอะคิตะได้รับความสนใจทางด้านการจัดการศึกษา ประเด็นสำคัญทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ๑) การทำงานเป็นทีมของครู ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเรียนการสอนร่วมกับครูคนอื่น ๒) ความร่วมมือของครอบครัวและชุมชน ที่สามารถเข้าใจนโยบายการศึกษาของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ๓) ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอะคิตะ โดยหารือร่วมกันเพื่อมุ่งเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ๔) บทบาทของคณะกรรมการการศึกษา ให้ความสำคัญของการสำรวจการศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด และระดับประเทศ และ ๕) การเรียนการสอนรูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุกแบบอะคิตะ (AKITA Action) โดยให้ความสำคัญกับการให้เด็กรู้จักตั้งข้อสังเกตในการเรียนรู้ มีความคิดของตนเอง อภิปรายกันเป็นคู่ กลุ่ม หรือทั้งชั้นเรียน และทบทวนเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ มุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่านการคิดด้วยตนเองและการสนทนาโต้ตอบ ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านวิธีมองและวิธีคิด
นอกจากนี้ ครูมีบทบาทสำคัญที่จะผลักดันให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ และสามารถแสดงความคิด มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเรียนการสอนตามลักษณะเฉพาะของแต่ละบริบท และการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับแต่ละชั้นเรียน โดยยึดหลักการการเรียนการสอนในลักษณะเชิงรุกกระตุ้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ


         ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ทำการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้การสอนเชิงรุกอะคิตะโมเดลในประเทศไทย นำวิธีการเรียนการสอนรูปแบบอะคิตะโมเดลมาใช้ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดนนทบุรี จำนวน ๒ แห่ง และกรุงเทพฯ จำนวน ๒ แห่ง ซึ่งได้จำลองรูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุกของจังหวัดอะคิตะ พบว่า โรงเรียนที่ได้นำไปทดลองเห็นสอดคล้องกันว่า เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เด็กได้คิด พูดคุย และอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้นมากขึ้น นอกจากนี้ครูจำเป็นต้องตื่นตัวและมีทักษะในการสอนเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สกศ. จะเดินหน้าศึกษาวิจัยการเรียนการสอนในรูปแบบเชิงรุกนี้อย่างต่อเนื่อง

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด