สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น แนวทางการขับเคลื่อนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

image

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากนายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมสนทนาประเด็น “แนวทางการขับเคลื่อนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน”
อาทิตย์ที่ผ่านมา รายการสัมภาษณ์ท่านประเด็นหลักการของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Community) สำหรับวันนี้ ขอให้ท่านยกตัวอย่างการนำนวัตกรรม PLC ไปใช้จัดการเรียนการสอนให้เกิดผลสำเร็จ
       
ผอ. กวิน:     ทุกคนคงทราบกันดีว่า PLC คือ กระบวนการที่ครูรวมตัว ร่วมใจ ร่วมพลัง เรียนรู้ร่วมกัน และร่วมทำเพื่อพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งพัฒนาครูด้วยกัน กระบวนการ PLC แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน คือ Share  Learn  Do และ Reflect เริ่มจาก Share  พูดคุยถึงปัญหาจากการสอนร่วมกัน  Learn แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา  Do นำแผนการเรียนรู้ไปใช้ในชั้นเรียน และ Reflect สะท้อนและประเมินผลเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนต่อไป 
การใช้ PLC ต้องเริ่มจากการสืบค้นสาเหตุของปัญหา จากปัญหาระดับพื้นฐานขยายผลไปสู่ปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้ ครูจะต้องหมั่นพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตนอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากกระบวนการ PLC ยังสามารถใช้แนวทางอื่นร่วมด้วย อาทิ ๑) Lesson study หรือ “การศึกษาชั้นเรียน” โดยให้ครูรวมกลุ่มกันพูดคุยกับปัญหาในชั้นเรียน เพื่อออกแบบและพัฒนาบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ๒) Active Learning คือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน โดยครูช่วยอำนวยความสะดวกและจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง และ ๓) Problem - based Learning หรือ PBL คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน อาจเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจหรือเกี่ยวข้องกับผู้เรียน เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะการคิด และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต กระบวนการ PLC และแนวทางการเรียนรู้อื่นที่กล่าวถึงนี้ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทั้งในชั้นเรียนไปจนถึงปัญหาในการบริหารสถานศึกษาได้อีกด้วย
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ขอให้ท่านยกตัวอย่างสถานศึกษาที่นำกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ไปใช้จนเกิดผลสำเร็จ
       
ผอ. กวิน:     หลังจากเริ่มโครงการ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีสถานศึกษาจำนวนมากที่นำกระบวนการดังกล่าวไปใช้จนเกิดผลสำเร็จ โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านป่าสัก ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เป็นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร พบปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ นักเรียนและผู้ปกครองบางส่วนเป็นชนพื้นเมืองซึ่งไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ครูผู้สอนจึงใช้กระบวนการ PLC โดยแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาจนเกิดนวัตกรรมทางการศึกษาที่ชื่อว่า “บันไดนักอ่าน” 
กิจกรรม “บันไดนักอ่าน” เป็นสมุดบันทึกที่แจกให้แก่นักเรียนทุกคน โดยใช้คำศัพท์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงประโยคที่ซับซ้อน นักเรียนต้องนำบันทึกบันไดนักอ่านกลับไปอ่านที่บ้านเพื่อให้ผู้ปกครองเซ็นชื่อรับทราบ เมื่อกลับมาถึงโรงเรียน คุณครูจะทดสอบอีกครั้ง วิธีการนี้นอกจากจะช่วยฝึกพัฒนาการในการอ่านของนักเรียนแล้ว ยังเป็นตัวเชื่อมให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าโรงเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้างปัจจุบันนักเรียนโรงเรียนบ้านป่าสักสามารถอ่านออกเขียนได้ทุกคน กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และมีผลการเรียนวิชาอื่นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

       
ผู้ดำเนินรายการ:     กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดทักษะความรู้ของครูผู้สอนด้วยหรือไม่ อย่างไร 
       
ผอ. กวิน:     กระบวนการ PLC ตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐานที่ว่าครูผู้สอนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในรายวิชาที่ตนรับผิดชอบ แต่อาจขาดการพูดคุยเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก กระบวนการ PLC เน้นการช่วยสร้างสังคมครูเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร รวมทั้งควรจดบันทึกข้อสรุปและผลปฏิบัติการสอน หรือที่เรียกว่า Logbook เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล)  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ 
       
ผอ. กวิน:     ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC นอกจากช่วยพัฒนาการเรียนการสอนสู่คุณภาพผู้เรียน ยังช่วยพัฒนาทักษะการสอนสู่ความเป็นครูมืออาชีพได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้  ครูและผู้บริหารสถานศึกษาสามารถใช้กระบวนการ PLC เพื่อแก้ปัญหาได้ในทุกระดับ ทั้งกลุ่มสาระรายวิชาในสถานศึกษาเดียวกัน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด หรือข้ามจังหวัด ซึ่งต้องปรับวิธีการให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละท้องถิ่นต่อไป 
สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเรื่องชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC หรือต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ นายกวิน เสือสกุล  ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังรายการรอบรั้วเสมา
      .......................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด