สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วันศุกร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นายเฉลิมชนม์ แน่นหนาที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา


ผู้ดำเนินรายการ:      รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  สนทนาประเด็น “ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”  ขอเรียนถามถึงที่มาและความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้
       
ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา:     เป้าหมายหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา คือ การจัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อรัฐบาลภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กำหนดไว้ว่าให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาและตรากฎหมายทุกขั้นตอน 
       
     

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จึงได้จัดการรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศซึ่งดำเนินการมาแล้ว ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด และครั้งที่ ๒ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ กอปศ. จะจัดการรับฟังความคิดเห็นที่ภาคใต้และภาคกลางในโอกาสต่อไป 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปศึกษาในประเด็นใด
       
ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา:      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๔ และมาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา กำหนดประเด็นการปฏิรูปการศึกษาไว้หลายด้าน อาทิ ด้านเด็กเล็ก  ด้านครูและอาจารย์ และด้านการจัดการเรียนการสอน โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฯ ที่กำหนดไว้
       
ผู้ดำเนินรายการ :    

การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

       
ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา:     การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวภาคเหนืออย่างดียิ่ง โดยก่อนวันจัดการประชุม คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในสถานศึกษาต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และโรงเรียนต้นแก้วผดุงพิทยาลัย ซึ่งนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาได้ให้การต้อนรับและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างดี
       
      ส่วนการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งจากสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า รวมถึงนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมมากประมาณ ๘๐๐ กว่าคน นอกจากนี้ ยังมีผู้สนใจอื่น ๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ (Line) เพื่อการรับฟังความคิดเห็นประมาณ ๔๐๐ กว่าคน
       
     

ทั้งนี้ การประชุมในครั้งมีการรับฟังความคิดเห็น ๗ ประเด็น ได้แก่ ๑) เด็กเล็กซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๒) ครูและอาจารย์ ๓) การจัดการเรียนการสอน ๔) การปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ๕) การศึกษาเอกชน ๖) อุดมศึกษา และ ๗) อาชีวศึกษา

       
ผู้ดำเนินรายการ :     ผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างไร 
       
ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา:     คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ประมวลผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งจากที่ประชุมและกลุ่มไลน์ (Line) ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจโดยเฉพาะด้านเด็กเล็ก และด้านครูและอาจารย์ ดังนี้ 
       
     

๑) เด็กเล็ก  มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ดังนี้ 

- ให้มีการจัดตั้งหรือยกระดับหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบด้านเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฐมวัยของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ 

- ควรเชื่อมโยงข้อมูลเด็กปฐมวัยทั้งในระดับจังหวัดและในสถานศึกษา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทราบประวัติการศึกษาของเด็กที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

- รัฐควรสนับสนุนหรือจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กประจำอำเภอ ทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

    - ควรมีครูและบุคลากรด้านการพัฒนาเด็กที่มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับหลักการดูแลเด็กปฐมวัย 

- ควรยกเลิกระบบสอบเข้าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โดยเปลี่ยนเป็นเน้นการเรียนรู้เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะเด็กเป็นสำคัญ

       
     

๒) ครูและอาจารย์  มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ดังนี้ 

-  ควรสำรวจความต้องการและสาขาวิชาที่ขาดแคลนเพื่อให้การผลิตครูเกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

-  การตั้งสถาบันการผลิตครูควรใช้หลักสูตรที่เป็นทิศทางเดียวกัน โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าจะใช้หลักสูตร ๔ ปี หรือ ๕ ปี

-  ให้มีการคัดกรองผู้ที่มาเรียนครู ส่งเสริมให้นักเรียนที่เรียนดี ความประพฤติดีเข้ามาเรียนครู

-  การประเมินวิทยฐานะควรประเมินจากผู้เรียนเป็นหลักและกำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม

-  ควรเพิ่มสวัสดิการ เช่น บ้านพักครู อุปกรณ์จัดทำสื่อการเรียนการสอน หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู โดยเฉพาะครูที่สอนในถิ่นทุรกันดาร 

       
ผู้ดำเนินรายการ :      คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้กำหนดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องไว้อย่างไร 
       
ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา:       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๒ ปี ซึ่งขณะนี้ กอปศ. ได้เสนอพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นลำดับถัดไป นอกจากนี้ กอปศ. จะเร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาด้านอื่น ๆ ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑
       
     

ทั้งนี้ หลังจากเสนอร่างกฎหมายให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว กอปศ. ต้องจัดทำรายงานการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งจะได้ประมวลความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงานดังกล่าวด้วย 

       
ผู้ดำเนินรายการ :       สำหรับประชาชนที่สนใจจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในช่องทางใด
       
ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา:       คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางโทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.thaiedreform.org Facebook Fanpage“ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย”  Line“ร่วมปฏิรูปการศึกษา” 
       
      นอกจากนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ในวันนี้ขอขอบพระคุณ ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา) ที่กรุณามาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้

       

 

  

 

 

 

     

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด