สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา)

image

 
 


สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) วันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา


ผู้ดำเนินรายการ   :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา สนทนาประเด็น “การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา)”  ขอเรียนถามถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว
       

รองเลขาธิการสภาการศึกษา :

    เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของ สกศ. ในด้านการติดตามและประเมินผล โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติและเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
       
      ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานด้านอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการจ้างงานโดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน เนื่องจากค่านิยมของผู้ปกครองที่มุ่งส่งลูกหลานให้เรียนในสายสามัญเป็นหลัก เพื่อเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา ทำให้ผู้เรียนสายอาชีวศึกษามีจำนวนน้อยลง ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้จัดการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือที่เรียกว่า โครงการทวิศึกษา โดยบูรณาการร่วมกับ ๓ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
       
      โครงการทวิศึกษามีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษาแก่ประชาชนวัยเรียนและวัยทำงานตามความถนัดและความสนใจ  ๒) เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่นักเรียนระดับมัธยมตอนปลายที่มีความประสงค์เรียนควบคู่ไปกับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ  และ ๓) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความประสงค์เรียนควบคู่ไปกับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
       
      ขณะนี้ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ ๒ ปีแล้ว สกศ. จึงจัดประชุมสัมมนาขึ้นเพื่อติดตามผลและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสรุปปัจจัยความสำเร็จ อุปสรรค รวมถึงประยุกต์ใช้แนวทางการจัดการศึกษาแบบทวิศึกษาในต่างประเทศ โดยจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาโครงการทวิศึกษาให้ประสบความสำเร็จต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ :      ผลที่ได้รับจากการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วม ฯ ในครั้งนี้ เป็นอย่างไร 
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     การศึกษาวิจัยจากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากเอกสาร แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ พบว่า สิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารสถานศึกษาจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) กับสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาในพื้นที่ได้และดำเนินการตาม MOU ได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีข้อติดขัดในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่ชัดเจน ปัญหาการจัดหลักสูตรเพิ่มเติมทำให้ขาดแคลนครูผู้สอนโดยเฉพาะในสายอาชีวศึกษา สำหรับปัญหาการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ พบว่า มีสถานศึกษาสายสามัญบางแห่งที่คัดเลือกนักเรียนซึ่งมีผลการเรียนในระดับต่ำถึงปานกลางเข้ามาร่วมโครงการ ฯ เมื่อนักเรียนถูกบังคับให้มาสมัครจึงขาดความตั้งใจและขาดเรียน บ่อยครั้งจนต้องออกจากโครงการ ฯ ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ ฯ ในระยะยาว การจบหลักสูตรใช้เกณฑ์การจบหลักสูตรทั้ง ๒ หลักสูตรที่เรียน โดยนักเรียนสังกัด กศน. ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ต้องเรียนเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย ๔๐ หน่วยกิต และนักเรียนสังกัด สพฐ. ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ต้องเรียนเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย ๒๙ หน่วยกิต ทั้งนี้ เมื่อเรียนครบตามหลักสูตร นักเรียนจะต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ ๒.๐ ขึ้นไป และต้องฝึกงานตามข้อกำหนดของหลักสูตร ปวช. อีก ๓๒๐ ชั่วโมงรวมถึงต้องสอบผ่านเกณฑ์สมรรถนะวิชาชีพในสาขาที่เรียนจึงจะได้วุฒิการศึกษาทั้งในสายสามัญและสายอาชีพ
       
ผู้ดำเนินรายการ :      

ประเด็นใดที่ต้องเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :    

 ประเด็นสำคัญมี ๓ ประเด็น ดังนี้

       
      ๑) ปัจจัยผลความสำเร็จ พบว่า การจะดำเนินการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ทวิศึกษา จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยความพร้อมของการดำเนินงานของบุคลากร ร่วมทั้งทรัพยากรด้านอื่น ๆ เช่น ด้านงบประมาณ ด้านวัสดุ ด้านอาคารสถานที่ เป็นต้น
       
      ๒) ปัจจัยความคาดหวังของผลโครงการทวิศึกษาดังกล่าว พบว่า การทำบันทึกข้อความตกลงระหว่างสถาบันคู่สัญญาบางแห่งอาจยังไม่มีความชัดเจน เช่น ใครเป็นผู้จ่ายเงินงบประมาณค่าสอน ค่าสื่อต่าง ๆ ซึ่งกฎระเบียบที่มีอยู่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา อุปสรรค หรือไม่ อย่างไร เพราะบางเรื่องในกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ไม่มีความครอบคลุม อีกประเด็นที่ค้นพบ คือ ประสิทธิภาพการบริหารโครงการฯ เนื่องจากส่วนมากเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ร่วมถึงผู้บริหารของโรงเรียนที่มีคู่สัญญา ที่ต้องให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ร่วมทั้งมีการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน และมีการติดตามการเรียนการสอน ซึ่งบางแห่งมีส่วนร่วมน้อย และบางแห่งมองว่าเป็นการเพิ่มภาระ
       
      ผลผลิตของโครงการนี้ พบว่า ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีความพึงพอใจมาก เพราะจะได้เรียนทั้งหลักสูตรสายสามัญ เพื่อเป็นทางเลือกในการเรียน ไปสู่หลักสูตรอุดมศึกษาและหลักสูตรสายอาชีพที่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที
       
     

ความคาดหวังของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหาร หากคู่สัญญาดำเนินการระยะหนึ่งและขาดประสิทธิภาพ เช่น การประสานงาน  ความพร้อมอาคาร สถานที่ เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจะเกี่ยวข้องกับความพร้อมของการจัดการศึกษา ความชัดเจนของการทำคู่สัญญา และอีกส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ คือ เรื่องคุณภาพของครู ซึ่งจะมีผลกระทบต่อโครงการเป็นอย่างมาก

       
     

๓) ปัญหา อุปสรรค ในการจัดการศึกษา เป็นเรื่องงบประมาณในการบริหารโครงการทวิศึกษา โดยโรงเรียนบางแห่งคัดเลือกและเชิญชวนนักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ไม่ค่อยดีมากนักในการเรียนสายสามัญมาส่งเสริมให้เรียนสายอาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะนักเรียนที่มีพื้นฐานและคุณสมบัติที่จะเรียน ๒ หลักสูตรต้องมีความรู้ ความสามารถ ความพร้อม ความกระตือรือร้น มุ่งมั่น โดยจะไม่คัดเลือกนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนสายสามัญและส่งเสริมให้มาเรียนสายอาชีพ เพราะผลสำเร็จเป้าหมายจะเกิดขึ้นยาก

       
ผู้ดำเนินรายการ :    

สุดท้ายนี้ขอให้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ฝากคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะกับผู้รับฟังรายการ

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     

เนื่องจากในปัจจุบันการสร้างกำลังคนที่มีฝีมือ รวมถึงความต้องการกำลังคนที่มีฝีมือของประเทศเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น การมีหลักสูตรเพื่อการพัฒนาเผยแพร่ฝีมือแรงงานจะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาประเทศ  ที่เรียกว่า “สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อยากฝากถึงผู้ปกครองว่าค่านิยมของการเรียนอาชีวศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ความเชื่อเดิมที่ว่า “คนที่เรียนอาชีวศึกษาคือคนที่เรียนสายสามัญไม่ได้” จะเปลี่ยนไป เพราะต่อไปนี้ใครที่มาเรียนสายอาชีวศึกษา จะมีทั้งเส้นทางที่ดี มีเส้นทางในการเรียนระดับปริญญาตรี และอุดมศึกษาได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีอาชีพ มีโอกาสที่จะมีงานทำ โอกาสที่จะมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพมากขึ้น ดังนั้น ควรปรับเปลี่ยนค่านิยมและความเชื่อในเรื่องการเรียนหลักสูตรอาชีวศึกษา อาชีวศึกษาเป็นความต้องการของตลาดแรงงานของประเทศสูง

       
     

สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สามารถส่งความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย
เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และFacebook Fanpage“เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ :    

ในวันนี้ขอขอบพระคุณ ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์) ที่กรุณามาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้

 
 

 

 


 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด