สกศ. ประชุมสัมมนาการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา)

image

 

           วันนี้ (๗ ธันวาคม ๒๕๖๐) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) เป็นประธานการประชุมสัมมนาการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) โดยมี ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นางเกื้อกูล ชั่งใจ) รองศาสตราจารย์พรทิพย์ ไชยโส อาจารย์สาขาการวิจัยและประเมินทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมสัมมนา ณ ห้องภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

 
 




           ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่สำคัญของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ด้านการประเมินผลการจัดการศึกษาของชาติ โดยนำเสนอการศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อเสนอแนะและข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลายใน ๔ ประเด็นสำคัญ คือ ๑) บทบาทของหน่วยงานมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องใดบ้าง ๒) การบริหารจัดการอย่างไรให้สอดคล้องเหมาะสมกับทิศทางโครงการ ๓) การคัดสรรผู้บริหารและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และ ๔) การประยุกต์ใช้บทเรียนจากโครงการทวิศึกษาในบริบทของต่างประเทศมีความแตกต่างกับประเทศไทยอย่างไร 

           “ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จะนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการต่อไป” ดร.สมศักดิ์ กล่าว 

 
 
 



           ด้าน รองศาสตราจารย์พรทิยพ์ ไชยโส นำเสนอการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ระบุว่า การวิจัยนี้เป็นการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนร่วมจากสภาพการดำเนินงานของหน่วยงานด้านการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา และรวบรวมข้อมูลจากโครงการทวิศึกษาทั้งระดับนโยบายและระดับสถานศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ด้วยการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร การลงพื้นที่ และการใช้แบบสอบถาม รวมถึงการศึกษาการจัดการอาชีวศึกษาจากประเทศที่มีบริบทแตกต่างกัน ได้แก่ อเมริกา เยอรมัน ไต้หวัน และออสเตรเลีย 

           คณะวิจัยค้นพบว่าปัจจัยสำคัญโดยสรุปที่ทำให้ประเทศดังกล่าวประสบความสำเร็จ คือ การมีนโยบายที่เข้มแข็งในทุกระดับ ทั้งระดับนโยบายภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ระดับสถานศึกษาและสถานประกอบการ ระดับผู้เรียน และระดับสังคม ชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการทวิศึกษาจะได้รับผลประโยชน์อย่างไร 

           ทั้งนี้ จากสภาพการดำเนินงาน ผลการวิจัย และบริบทจากต่างประเทศข้างต้น สามารถสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ว่าต้องมีการทำคู่มือในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานระดับนโยบาย และกำหนดบทบาทและแนวทางของหน่วยงานทุกระดับที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการสู่การปฏิบัติ 


 
 
 
 
 
 



           ที่ประชุมได้มีการให้ข้อเสนอแนะอย่างหลากหลายจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมประชุมโดยสรุปว่า การจัดการศึกษาโครงการทวิศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ๑) การบูรณาการสร้างความร่วมมือในทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ๒) สร้างความเข้าใจให้เห็นถึงความสำคัญโครงการทวิศึกษากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ๓) เตรียมความพร้อมด้านสภาพแวดล้อม สถานที่ อุปกรณ์ที่เหมาะสมและเพียงพอ ๔) ร่วมกันจัดทำแผนการเรียนแบบมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ครูเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมต่อการจัดการศึกษาทวิศึกษาสู่การปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนสามารถค้นหาตนเองตรงตามความต้องการ เกิดการพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นทรัพยากรมนุษย์รองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต.



 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 



ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่


image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด