สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ผลการประชุมสภาการศึกษา

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ผลการประชุมสภาการศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา

 

 ผู้ดำเนินรายการ           :    

รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา สนทนาประเด็น “ผลการประชุมสภาการศึกษา”  ขอเรียนถามถึงสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:    

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ โดยมีการพิจารณาในหลายประเด็น ได้แก่ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิของชาติ ร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา 

       
ผู้ดำเนินรายการ             :     ประเด็นกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) จะมีผลที่เป็นรูปธรรมอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 
       
      ๑) การดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ขณะนี้รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ในฐานะประธานคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกำกับการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้ง ๔ คณะ ได้แก่ ๑) อนุกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๒) อนุกรรมการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและพัฒนาระบบประกันคุณภาพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๓) อนุกรรมการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศไทย และ ๔) อนุกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เร่งดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนในแต่ละคณะอนุกรรมการ ฯ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ 
       
      ๒) ครม. มีมติให้กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา พิจารณาหลักสูตรที่ดำเนินการอยู่ว่าสอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติหรือไม่ เพราะหัวใจสำคัญของ NQF คือ การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศ  ทั้งนี้ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ แบ่งเป็น 8 ระดับ เพื่อสะท้อนให้เห็นความสามารถในการทำงานและการประกอบอาชีพ ขณะนี้ คณะทำงานได้เตรียมประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป 
       
      ๓) การสร้างความเข้าใจเรื่องกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ให้สังคมและผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษารู้จักและตระหนักถึงประโยชน์ของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่มีต่อการศึกษาของชาติ หัวใจสำคัญคือ สมมติว่าเรียนจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้เสมอ ควรมีการปรับเนื้อหาการเรียนการสอนให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความสามารถในการทำงานที่สอดคล้องกับสมรรถนะวิชาชีพ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงแรงงาน  และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือกันเพื่อปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ผู้สำเร็จการศึกษาแต่ละระดับสามารถทำงานได้ ขณะเดียวกัน ผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ ควรเพิ่มความรู้เพื่อนำมาขอเทียบเคียงคุณวุฒิทางการศึกษาได้ด้วย  
       
      ๔) การดำเนินการพัฒนาสาขาอาชีพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยให้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ หารือร่วมกับคณะทำงานของ ศาสตราภิชาน รองศาสตราจารย์ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดเลือก ๗ สาขาอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมปรับหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้แก่ กลุ่มโลจิสติกส์โครงสร้างขั้นพื้นฐาน กลุ่มโลจิสติกส์บริการ กลุ่มหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มอาหารและเกษตร กลุ่มปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และกลุ่มแม่พิมพ์และผลิตภัณฑ์ยางพารา
       
     

ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วมปรับหลักสูตรการเรียนการสอนทั้ง ๗ กลุ่มสาขาอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ

       
ผู้ดำเนินรายการ:     คณะอนุกรรมการฯ นี้ มีหน้าที่สร้างมาตรฐานทางสมรรถนะของคุณวุฒิวิชาชีพใช่หรือไม่
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     มาตรฐานทางสมรรถนะของคุณวุฒิวิชาชีพมีกำหนดไว้แล้ว แต่ต้องปรับเนื้อหาสาระของหลักสูตรการเรียนการสอนให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถที่ได้มาตรฐานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
       
ผู้ดำเนินรายการ:    

ก่อนหน้านี้เคยได้ยินว่า หากเรียนจบระดับอาชีวศึกษา ต้องได้ใบรับรองมาตรฐานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพิ่มอีกด้วย ใช่หรือไม่

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:    
ใช่ครับ ท้ายที่สุดแล้วต้องการให้มีรูปธรรมเช่นนั้น เช่น เรียนจบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้ว ยังต้องได้สมรรถนะทางวิชาชีพในสาขาที่เรียนด้วย โดยต้องผ่านการประเมินของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งใบรับรองมาตรฐานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้ อาจช่วยให้ได้รับค่าตอบแทนตามที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กำหนด ซึ่งอาจจะสูงกว่าค่าตอบแทนตามระดับ ปวช.
       
ผู้ดำเนินรายการ:     จะมีการปรับหลักสูตรให้ได้วุฒิการศึกษาระดับ ปวช. พร้อมกับได้ใบรับรองมาตรฐานตามกรอบคุณแห่งชาติหรือไม่
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:    

ทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำลังดำเนินการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
ซึ่งอาจจะนำมาบังคับใช้ในอนาคต ส่วนการประเมินเป็นภาคปฏิบัติที่ทาง สอศ. จะเป็นผู้ดำเนินการ  

       
ผู้ดำเนินรายการ:    

ประเด็นเรื่องการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการศึกษา มีการกล่าวถึงในที่ประชุมอย่างไร 

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:    

ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการว่า การพัฒนาการศึกษาไม่ได้จำกัดเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น แต่ควรให้สมาคมวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาหลักสูตร อาจรวมถึงการมาเป็นครูผู้สอน ผู้ฝึก หรือใช้สถานที่ของสถานประกอบการเป็นที่เรียนฟรีอีกด้วย

       
ผู้ดำเนินรายการ:     

การกำหนดหลักสูตรในทุกระดับให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติมีเฉพาะ ๗ กลุ่มสาขาอาชีพ หรือไม่

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:    

๗ กลุ่มสาขาอาชีพ เป็นตัวอย่างที่ต้องเร่งดำเนินการ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ แบ่งเป็น ๘ ระดับ ซึ่งต้องแจ้งกลับไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องหลักสูตรให้พิจารณาว่าหลักสูตรที่มีอยู่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติหรือไม่ และครูอาจารย์ได้จัดการเรียนการสอน
ตามนั้นหรือไม่

       
     

นอกจากนี้ ที่ประชุมกรรมการสภาการศึกษา ยังได้พิจารณาร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติ หลายท่านคงจำได้ว่า การปฏิรูปการศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา มีชุดคำพูดซึ่งนับได้ว่าเป็นมาตรฐานการศึกษาของชาติ เช่น อยากให้นักเรียนที่จบมาแล้วเป็นเด็ก “เก่ง ดี มีสุข” พูดถึงการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง  และสังคมแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้ สกศ. ได้ติดตามการใช้มาตรฐานการศึกษา พบว่า แม้ว่าถ้อยคำเหล่านั้นจะเป็นที่รู้จัก แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ไม่เต็มที่ สาเหตุหนึ่งคือ การขาดความเข้าใจ มีตัวชี้วัดมากเกินไป และเมื่อสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.) นำมาใช้เป็นเกณฑ์ประเมิน ทำให้ผู้ปฏิบัติสนใจเรื่องเอกสารมากเกินไป 

       
     

ด้วยเหตุนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิจึงเสนอให้ทบทวนมาตรฐานการศึกษาของชาติขึ้นใหม่ ประกอบกับสถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนไปมาก เช่น การมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒  แผนยุทธศาสตร์ชาติระย ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ ประกอบด้วย ๓ มาตรฐาน ดังนี้

       
     

มาตรฐานที่  ๑ :  คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ คือ “คนดี มีทักษะการเรียนรู้ พึ่งพาตนเองได้” มีตัวชี้วัด เช่น เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นผู้มีทักษะทางสังคมและการดำเนินชีวิต และมีความเป็นพลเมืองดี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติและการพัฒนาคนในศตวรรษที่ ๒๑ 

       
     

มาตรฐานที่  ๒ : แนวการจัดการศึกษา ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้แก่สถานศึกษามากกว่ายึดถือคำสั่งการบริหารจาก
ส่วนกลาง กล่าวคือ สถานศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในท้องถิ่นและมีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองมากขึ้น

       
     

มาตรฐานที่ ๓ :  แนวการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เน้นแนวคิด Active Learning หรือการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน
ให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้นวัตกรรม สื่อ และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาสู่สังคมแห่งการเรียนรู้

       
ผู้ดำเนินรายการ :    

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่าน ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากข้อคิดเห็นถึงผู้ฟังครับ

       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:    

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเวทีกลางสำหรับประชาชนทั่วประเทศในการแสดงความคิดเห็น หรือร่วมเสวนาให้ข้อชี้แนะเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น สกศ. ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกท่าน โดยสามารถส่งข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

       
ผู้ดำเนินรายการ:    

ถือว่าทุกคนสามารถมาช่วยพัฒนาการศึกษาร่วมกัน ในวันนี้ขอขอบพระคุณ ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา
ที่กรุณาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ 

       

********************************************************

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด