สกศ. ร่วมประชุมเครือข่ายนโยบายการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้เรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

image

 

          วันที่ ๑๑-๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ นางเรืองรัตน์  วงศ์ปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วย นางสาวประภา ทันตะศุภารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ  นางสาวณุตตรา  แทนขำ นักวิชาการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้  นายภาณุพงศ์ พนมวัน  นักวิชาการศึกษา สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา และนางสาวจอมหทยาสนิท  พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา เป็นคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม 9th Annual Expert Meeting of the Initiative on Employment and Skills Strategies in Southeast Asia (ESSSA) and 6th Regional Policy Dialogue on TVET ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 

 


สาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ ดังนี้

          ๑. การประชุม 9th Annual Expert Meeting of the Initiative on Employment and Skills Strategies in Southeast Asia (ESSSA) and 6th Regional Policy Dialogue on TVET มีสมาชิกเข้าร่วม ๑๔ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา แคนาดา เดนมาร์ค เยอรมนี อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย และ ๗ องค์การนานาชาติ ได้แก่ ASEAN Secretariat, ADB, GIZ, International Labour Organisation (ILO), OECD, SEAMEO และ UNESCO

          ๒. การประชุมแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ การประชุมห้องใหญ่ (Plenary Session) การประชุมห้องย่อย และการทัศนศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

                    ๒.๑ การประชุม Plenary Session
                    Plenary Session I: Building Talent for the Next Production Revolution – Key Trends and Opportunities นางสาวจอมหทยาสนิท  พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา ทำหน้าที่วิทยากร พร้อมด้วย Mr. Michael Hartel ผู้อำนวยการด้าน Digital Media ของกระทรวงการอาชีวศึกษาแห่งเยอรมนี และ Ms. Miranda Kwong นักเศรษฐศาสตร์แรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นำเสนอประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุ่งเน้นโอกาสและความท้าทายเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาทิ โลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาผู้ที่มีทักษ (Talent) สำหรับการปฏิวัติการอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ผ่านระบบการศึกษาและฝึกอบรมที่เข้มแข็ง สร้างโอกาสการทำงานแบบ Work-based Learning และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงระหว่างนายจ้างและแรงงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ๒๐๒๕ ร่วมกัน โดย สกศ. เน้นยุทธศาสตร์ที่ ๒ ของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ เพื่อนำไปสู่การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และก้าวสู่การบรรลุเป้าหมายประเทศไทย ๔.๐ 

 

                    Plenary Session II: Utilizing technology to create new pathways for TVET delivery ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบของงาน โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ซึ่งในขณะที่นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่อำนวยความสะดวกต่อผู้เรียนในการเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรมได้ทุกที่ ทุกเวลา เกิดความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมของคน โดยเฉพาะครูและนักการศึกษา ตลอดจนนโยบายและการปฏิบัติที่สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในรูปแบบใหม่ๆ มีความสำคัญยิ่งต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจและประเทศ

 

                    Plenary Session III: Improving governance and developing stronger policy coherence and coordination between employment and skills policies ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านอาชีวศึกษา (TVET) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจของการประชุมช่วงนี้คือ การนำเสนอ SkillsFuture หน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ทำหน้าที่สำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาทักษะของประเทศ เพื่อยกระดับการจ้างงานและการแข่งขันของแรงงาน ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ สำหรับคนทุกช่วงวัย

                    ๒.๒ การประชุมห้องย่อย

                    Group 1A: Better linking people to jobs through responsive employment services การบริการการจ้างงานโดยภาครัฐ (Public Employment Services: PES) มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งเพิ่มโอกาสในการหางานให้เหมาะสมกับแรงงานได้ดียิ่งขึ้น จากตัวอย่างของ National Employment Services Association แห่งออสเตรเลีย และ Navigos Search ของเวียดนาม การมีระบบฐานข้อมูลตำแหน่งงานโดยภาครัฐที่มีประสิทธิภาพจะทำให้การเคลื่อนตัวของแรงงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                    Group 1B: Synchronising Pre-service and In-service training of TVET teachers with the changing requirements of digitalization process การเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้เกิดความต้องการสมรรถนะใหม่ที่จำเป็นต่อการบุคลากรด้าน TVET ที่จะปรับตัวและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการศึกษาและโลกของการทำงาน ที่ประชุมเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาครูอาชีวศึกษาและครูฝึกอบรม ฟันเฟืองสำคัญของการเตรียมความพร้อมของแรงงานให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาค

                    Group 2A: Recognising skills acquired through work-based learning กรอบคุณวุฒิมีความสำคัญยิ่งต่อการเทียบเคียงทักษะและองค์ความรู้ที่ได้พัฒนาขึ้นจากการทำงานและการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมโอกาสในการทำงานและการเคลื่อนที่ของกำลังงาน อีกทั้งสามารถลดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่เกิดจากเยาวชนและกลุ่มเปราะบางในสังคมลงได้ ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายถึงความท้าทายของการรับรองทักษะและตัวอย่างการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศต่างๆ เพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน

                    Group 2B: Engaging the Private Sector in new professions and future skills development process Public-Private Partnerships (PPPs) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาทักษะและการศึกษาเป็นประเด็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบในการให้ความร่วมมือและความต้องการของภาคเอกชน เป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ตัวอย่างความสำเร็จจากประเทศเยอรมนี ได้ปรับการศึกษาแบบทวิภาคีไปอีกระดับคือ จาก Dual system ที่เป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ ที่มีกำลังในการสนับสนุนการฝึกอบรม เป็น Inter-Company Training Centre ซึ่งเน้นความร่วมมือในการฝึกอบรมจากภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กและรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ และนอกจากการเน้นที่ภาคเอกชนขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว ยังเน้นการฝึกอบรมในธุรกิจด้านเกษตรกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นแบบอย่างที่ดีต่อ Smart farming และการพัฒนารูปแบบ PPP หรือต่อยอดโครงการสานพลังประชารัฐของรัฐบาลไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศไทย ๔.๐ ได้อย่างน่าสนใจ 

 

                    ๒.๓ ทัศนศึกษา ณ Hanoi Industrial Vocational College 

                    วิทยาลัยอาชีวอุตสาหกรรมแห่งฮานอย ดำเนินกิจการมาเป็นระยะเวลา ๔๓ ปี โดยในระยะเริ่มแรกจะเป็นการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์การนานาชาติ และภายหลังจากปี ค.ศ. ๒๐๒๐ นี้ วิทยาลัยจะต้องบริหารจัดการเองทั้งหมด ซึ่งวิทยาลัยฯ ให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่นักศึกษาที่มีฐานะค่อนข้างยากจน จึงเน้นการฝึกปฏิบัติทางด้านเครื่องกล ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และบัญชีและการเงิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และเครื่องมือ จากภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ บริษัท Samsung และ Hyundai ของประเทศเกาหลีใต้ และความร่วมมือจากรัฐบาลเยอรมันและเดนมาร์คในการพัฒนาทักษะด้านเครื่องกล ยานยนต์ ตลอดจนการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ อีกทั้งในระหว่างเรียน วิทยาลัยยังจัดพื้นที่สำหรับการเป็นอู่ซ่อมรถให้นักศึกษาได้มีงานทำระหว่างเรียนด้วย

          ๓.ผู้แทนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้แสดงเจตจำนงค์ในการรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไป โดยจะจัดขึ้น ณ นครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด