สกศ. จัดประชุมทางวิชาการ “พิจารณาร่างรายงานการวิจัยและพัฒนาแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามกลไกประชารัฐ”

image

 

         วันนี้ (๒๙ กันยายน ๒๕๖๐) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) เป็นประธานการประชุมการพิจารณาร่างรายงานการวิจัยและพัฒนาแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามกลไกประชารัฐ โดยมี นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน ๘๐ คน ณ ห้องประชุมภานุมาศ ชั้น ๑๐ โรงแรมรอยัล ริเวอร์



 

          นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ กล่าวรายงานต่อที่ประชุมถึงความสำคัญของการจัดประชุม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI จัดทำรายงานการวิจัยและพัฒนาแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามกลไกประชารัฐ และการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคประชาสังคมมาร่วมกันพิจารณาร่างรายงาน เพื่อเติมเต็มรายงานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

          ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนากำลังคนประเทศไทย ตอบสนองความต้องการกำลังแรงงานของตลาด โดยการนำเสนอรายงานแบ่งประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็น คือ ๑) สานพลังประชารัฐ เน้นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษาในทิศทางเดียวกัน ๒) การใช้พื้นที่เป็นฐาน คำนึงถึงจุดเด่นและข้อจำกัดของพื้นที่ มุ่งพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับบริบท และ ๓) ผู้ประกอบการเยาวชน พัฒนาเด็กรุ่นใหม่สู่การเป็นผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ



 

         นางสาวพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิอโซก้า (ประเทศไทย) บรรยายพิเศษเรื่อง การพัฒนาผู้ประกอบการเยาวชน สำหรับเด็กไทยยุคดิจิทัล กล่าวว่า “การศึกษา” เป็นสิ่งที่เด็กในโครงการอยากมีส่วนร่วมแก้ไขปัญาสังคมมากที่สุด พร้อมทั้งนำเสนอกรณีศึกษาจากนักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม หรือการเป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมัน อเมริกาใต้ ฯลฯ การเริ่มต้นโครงการต่างๆ เริ่มจากแนวคิดของเด็กที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทางสังคมและนำเสนอแนวคิดใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนั้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการลงสำรวจพื้นที่ เน้นผลิตสินค้าที่สร้างคุณค่าให้กับชีวิตคน เช่น กลุ่มเด็กวิศวะรวมตัวกันสร้างหุ่นยนต์เก็บขยะในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่ได้จากการเข้าโครงการเด็กได้เรียนรู้และมองเห็นช่องว่าง (Gap) ที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม นำสู่การสร้างสรรค์วิธีการใหม่ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน

 



          หลังจากนั้น รองศาสตราจารย์ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย รายงานโครงการวิจัยและพัฒนาแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามกลไกประชารัฐ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ๑) เพื่อรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามกลไกประชารัฐ ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่สนับสนุนแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามกลไกประชารัฐ ๓) เพื่อเสนอแนะแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามกลไกประชารัฐ โดยมีเป้าหมาย คือ ศึกษากลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสถาบันอาชีวศึกษา เน้นศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ตาก และนครพนม ทั้งนี้ด้วยจุดเด่นและข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ทำให้การจัดการเรียนการสอนการเป็นผู้ประกอบการจึงแตกต่างกัน

 

 
 
 
 
 

       นอกจากนี้มีการอภิปรายการพิจารณาร่างรายงานโดย นายวรพจน์ ประสานพานิช หัวหน้าส่วนนโยบายและแผนมหภาคฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SME สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นายโชติธนินท์ อรุณพงศ์จรัส ประธานกรรมการบริหารบริษัท อิเล็คตัน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ ดร.จรัชวรรณ จันทรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินรายการโดย นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา มีข้อเสนอแนะสำคัญคือ ๑) การสร้างผู้ประกอบการเยาวชนต้องมุ่งผลลัพธ์ในความก้าวหน้าของเศรษฐกิจมหภาคทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้สูงขึ้น ๒) สร้างกระบวนการในการเป็นผู้ประกอบการเยาวชนด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Learning by doing) เริ่มต้นจากสร้างความรักและความชอบในการสร้างธุรกิจ จากนั้นสร้างแรงขับเคลื่อนสู่การลงมือปฏิบัติ ผ่านโครงการต่างๆ สร้างสิ่งแวดล้อมสนับสนุนแนวคิด มอบทุนทำธุรกิจ เรียนรู้จากความรู้รอบตัวและตัวแบบที่ประสบความสำเร็จ ๓) สถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการที่ดี ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสอนให้รู้จักใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมจะนำมาเติมเต็มร่างรายงานให้สมบูรณ์

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด