สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สภาการศึกษาเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง สภาการศึกษาเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ในวันศุกร์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร.ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ์   รองเลขาธิการสภาการศึกษา


ผู้ดำเนินรายการ : รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “สภาการศึกษาเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘” ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ที่โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว กรุงเทพฯ ก่อนอื่นขอเรียนถามท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ถึงความเป็นมาของการจัดโครงการดังกล่าว

รองเลขาธิการสภาการศึกษา : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เล็งเห็นความสำคัญของครูภูมิปัญญาไทย ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านหนึ่งด้านใด เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสาน ภูมิปัญญา (องค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนา และถ่ายทอด สืบต่อกันมาเพื่อให้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย) มาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน และได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามนัยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒

สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา สกศ. ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยแล้ว จำนวน ๗ รุ่น  มีครูภูมิปัญญาไทย จำนวนทั้งสิ้น ๔๓๗ คน ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ใน ๙ ด้าน คือ ๑) ด้านเกษตรกรรม ๒) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ๓) ด้านการแพทย์แผนไทย ๔) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๕) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ๖) ด้านศิลปกรรม ๗) ด้านภาษาและวรรณกรรม ๘) ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และ ๙) ด้านโภชนาการ ซึ่งมีผลงานปรากฏเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาที่ได้สืบสานมาแต่บรรพบุรุษมาปรับประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยให้ก้าวไกลสู่สากลในมิติที่หลากหลาย
สำหรับครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ นี้ ได้รับการคัดเลือกจำนวน ๕๔ ท่าน จำแนกเป็นภาคเหนือ ๑๖ ท่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๕ ท่าน ภาคกลางและภาคตะวันออก ๙ ท่าน และภาคใต้ ๑๔ ท่าน
 
ผู้ดำเนินรายการ   :  เมื่อมีการเชิดชูครูภูมิปัญญาไทย ได้มอบภาระในการถ่ายให้กับครูภูมิปัญญาไทยเหล่านั้น สกศ. ได้สนับสนุนครูภูมิปัญญาไทยอย่างไร

รองเลขาธิการสภาการศึกษา : ครูภูมิปัญญาไทยพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งนี้ สกศ. ไปสืบค้นดูว่าชุมชนใดมีท่านใดที่โดดเด่นในแต่ละเรื่อง เพื่อที่จะสนับสนุนให้ท่านถ่ายทอดองค์ความรู้ และมีนักวิชาการไปถอดองค์ความรู้มาเผยแพร่ ในอนาคต สกศ. มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกิดศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญา โดยพยายามที่จะออกกฎกระทรวง หรือกฎอื่น ๆ เพื่อให้ภาครัฐมีส่วนในการสนับสนุน ทั้งนี้ ผู้เรียนสามารถเข้ามาเรียนได้อย่างมีระบบมากขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ   : ในกรณีที่ความเป็นภูมิปัญญากับการศึกษาทางวิชาการอาจไม่ลงตัวกันบ้าง จะมีการจัดการอย่างไร

รองเลขาธิการสภาการศึกษา : ต้องเรียนว่าความรู้ที่ยอมรับอยู่ในหลักสูตรเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของความรู้ในโลกนี้ เป็นความรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง และมีความรู้อีกกลุ่มที่ยังไม่มีใครรับรอง แต่สามารถช่วยคนอื่นได้

ผู้ดำเนินรายการ  : จะมีการกำหนดให้เป็นวิชาที่นักศึกษาสามารถมาเรียนเพื่อเก็บเป็นหน่วยการเรียนได้หรือไม่

รองเลขาธิการสภาการศึกษา : ประเด็นนี้มีการสนทนากัน และมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรู้เหล่านี้เรียนแล้วเพื่อดำรงชีวิตได้ เพื่อแก้ปัญหาชีวิตได้ ไม่เกี่ยวกับหลักสูตรวิชาใด ๆ ดังนั้น คนที่เรียนในหลักสูตร ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สามารถเข้ามาเรียนได้ แต่การรับรองขึ้นอยู่กับทางโรงเรียน และมหาวิทยาลัยนั้น ขณะนี้ สกศ. กำลังคิดว่าจะมีวิธีการใดที่จะให้เกิดระบบสะสมความรู้และประสบการณ์ หมายความว่า เมื่อไปเรียนกับครูภูมิปัญญา จะมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมประสบการณ์ และความรู้ ต่อไป

ผู้ดำเนินรายการ   : แนวโน้ม/ทิศทางครูภูมิปัญญาไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ จะเป็นอย่างไร

รองเลขาธิการสภาการศึกษา : ครูภูมิปัญญาไทย กับยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเข้ากันได้ดี ต้องเข้าใจว่าไทยแลนด์ ๔.๐ ต้องการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยีบางกลุ่มเท่านั้น ที่เรียกว่า New S-Curve ได้แก่ ๑) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) ๒) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)  ๓) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) ๔) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)  และ ๕) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งภูมิปัญญาไทยสามารถเข้าไปมีส่วนสนับสนุนไทยแลนด์ ๔.๐ ได้ เช่น ประเด็น Smart Farming โดยต้องใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วย แต่ความรู้ที่เกษตรแปลงใหญ่ต้องการคือ ความรู้เรื่องน้ำ ดิน ปุ๋ย ซึ่งครูภูมิปัญญาไทยสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้ ดังนั้น บทบาทของครูภูมิปัญญาไทยไม่ได้ห่างไกล และไม่ได้เป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศไทย ๔.๐ ครูภูมิปัญญาไทยพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

ผู้ดำเนินรายการ   : สุดท้ายนี้ ขอให้ ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา

รองเลขาธิการสภาการศึกษา : สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับครูภูมิปัญญาไทยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”

ผู้ดำเนินรายการ : ในวันนี้ขอขอบพระคุณ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับครูภูมิปัญญาไทย ขอบพระคุณ และสวัสดีค่ะ

..................................................................................................................

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด