เชิดชูครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๘ สู่ไทยแลนด์ ๔.๐

image

 
 


          เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาเรื่อง “การยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘” และมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ / เกียรติบัตรให้ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ โดยมี ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงาน ณ ห้องอัมรินทร์ โรงแรมเอส  ดี อเวนิว  กทม.

 
 
 
 
 




          หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “กระทรวงศึกษาธิการกับการส่งเสริมภูมิปัญญาไทย” โดยสรุปว่า ภูมิปัญญาไทย เป็นความรู้ท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อเนื่องยาวนาน ครูถือเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ความรู้ของครูภูมิปัญญาเรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ในตน ที่สำคัญความรู้เหล่านี้สามารถนำเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการดูแลภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในการพัฒนาคนไทย  และจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้ง ๗๖ จังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อหาแนวทางในการนำไปปฏิบัติ และคิดหาหนทางว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพให้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป  นักการศึกษาวิตกว่าการศึกษาในโลกไร้พรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้อาจจะทำลายเอกลักษณ์ความเป็นชาติ  รวมถึงนักภูมิปัญญาวัฒนธรรมวิตกว่าภูมิปัญญาที่ก้าวช้า อาจทำให้เอกลักษณ์ความเป็นชาติสูญสิ้นได้  การศึกษาที่ขาดรากฐานจะขาดความยั่งยืน ตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง  ประเทศไทยครั้นเมื่อก่อตั้งประชาคมอาเซียน ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่รักสมัครสมาน มีอัธยาศัยไมตรี สุภาพเรียบร้อย ไม่ทะเลาะกัน แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป จึงขอฝากให้ช่วยกันนำประเทศกลับไปจุดนั้นให้ได้ และช่วยกันรักษาสืบสานภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ตลอดไป รวมถึงขอให้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติ หากพวกเราปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทก็เสมือนหนึ่งพระองค์ท่านคงอยู่กับพวกเราตลอดไป

 
 



          ดร.ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการสรรหาและยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่นำภูมิปัญญาไทยกลับคืนสู่ การจัดการศึกษาของชาติทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ที่เห็นชอบนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา  สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา สกศ. ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยแล้ว จำนวน ๗ รุ่น  มีครูภูมิปัญญาไทย จำนวนทั้งสิ้น ๔๓๗ คน ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ใน ๙ ด้าน คือ เกษตรกรรม  อุตสาหกรรมและหัตถกรรม  การแพทย์แผนไทย  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทุนและธุรกิจชุมชน  ศิลปกรรม  ภาษาและวรรณกรรม  ปรัชญา ศาสนาและประเพณี  และโภชนาการภูมิปัญญาไทยแต่ละด้าน เป็นฐานสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับบริบทความต้องการของแต่ละพื้นที่ สำหรับครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ นี้ ได้รับการคัดเลือกจำนวน ๕๔ ท่าน จำแนกเป็นภาคเหนือ ๑๖ ท่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๕ ท่าน ภาคกลางและตะวันออก ๙ ท่าน และภาคใต้ ๑๔ ท่าน  



          ทั้งนี้ ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์  ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ครูภูมิปัญญาไทยกับไทยแลนด์ ๔.o” โดยสรุปว่า  การจะเป็นประเทศไทย ๔.๐ นั้น ต้องใช้นโยบายการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ต้องก้าวข้ามการ “ทำมากได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยได้มาก” ซึ่งต้องคิดอย่างฉลาด เช่น ด้านเกษตรดั้งเดิมต้องปรับให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีมากกว่ากำลังแรงงานด้านอุตสาหกรรมหนักต้องปรับไปใช้การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ระดับนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมให้มีการก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ (Start Up) มากขึ้น  นอกจากนี้ ต้องเน้นปรับตัวให้รองรับ ๕ อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ๑) กลุ่มอาหาร เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ ๒) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ ๓) กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลอิเล็กทรอนิส์ ๔) กลุ่มดิจิทัล  อินเทอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์ และ ๕) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม การบริการที่มูลค่าสูง  สำหรับขณะนี้ประเทศไทยยังไปไม่ถึง ๔.๐ เพราะยังติดกับดัก ความพอใจกับรายได้ปานกลาง (เฉลี่ยปีละ ๑๑๘,๖๖๒ – ๓๖๖,๓๓๗ บาท :  คน) มีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากคุณภาพคน  เช่น มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้  ความสามารถและเข้าใจเรื่องที่อ่าน การคิดวิเคราะห์ ฯลฯ รวมถึงปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค เช่น  ไฟฟ้า ที่ต้องพึงพิงทรัพยากรของเพื่อนบ้าน ฯลฯ  ทั้งยังไม่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีเองได้ เพราะละเลยการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น  ไม่สามารถผลิตรถหรือโทรศัพท์เองได้ เพราะซื้อหรือเป็นแรงงานเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เรียนรู้เป็นผู้ผลิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง  สังคมวัฒนธรรม   มีปัญหาคอร์รัปชั่น ทรัพยากรเสื่อมโทรม  อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ท้อถอย เพราะนี่คือจังหวะที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส  ครูภูมิปัญญาไทยสามารถช่วยพัฒนาชาติได้ เพราะภูมิปัญญาไทยถือเป็นรากฐานและพลังในการขับเคลื่อนพัฒนาคน  เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม  โครงสร้างประเทศตั้งอยู่บนฐานภูมิปัญญาไทย  ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย มีลักษณะร่วมที่สำคัญ คือ  เป็นคนที่มีแรงบันดาลใจ  มุ่งมั่น มีพลัง  มีความสร้างสรรค์   มีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ส่วนรวม  เป็นคนที่มีความมานะพยายามมุ่งผลสัมฤทธิ์  คุณลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่ต้องการสำหรับคนในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ต้องช่วยกันปลูกฝังให้เยาวชน  ดังนั้นบทบาทที่สำคัญของครูภูมิปัญญาไทย  คือ การเป็นแบบอย่างบุคคลแห่งการเรียนรู้ และการเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ซึ่งเราสามารถนำองค์ความรู้ของครูมาช่วยในการพัฒนาและต่อยอด ๕ อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้นได้

 



          นางสาวสุทธาสินี วัชรบูล อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา บรรยายเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของครูภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาที่ได้รับการยกย่อง” โดยสรุปว่า สำนักเลขาธิการสภาการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของครูภูมิปัญญาไทย และต้องการอนุรักษ์ศาสตร์แห่งภูมิปัญญาไทยไว้ไม่ให้สูญหายไปจากแผ่นดินไทย จึงมีโครงการคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทยขึ้น โดยมีจุดเน้น คือ การอนุรักษ์ ฟื้นฟูภูมิปัญญาไทยไม่ให้สูญหายไป รวมถึงเชื่อมโยงให้เข้ากับบริบท  ต้องสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนให้นำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาชุมชน  สำหรับนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา มีสาระสำคัญ คือ การนำภูมิปัญญาเข้าสู่การศึกษาของชาติ  การยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาและสนับสนุนให้มีบทบาทในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกระบบ  การสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนา รวมถึงการประมวลข้อมูลเป็นคลังความรู้และสร้างเครือข่ายภูมิปัญญาทั้งในระบบท้องถิ่นและระดับชาติ  ซึ่งในการถ่ายทอดความรู้ของครูนั้น ทำได้โดยการผลิตสื่อ ตำราเรียน จัดทำหลักสูตรเทียบโอนความรู้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กศน. และมีศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญา สำหรับปัจจัยการดำเนินงานให้สำเร็จ ต้องมีการสำรวจ วิเคราะห์ เลือกเฟ้นและพัฒนาองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทยให้เป็นระบบ รวมถึงเสริมสร้างให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

`ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่ 


image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด