สกศ. สัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอนโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุไทย

image

 

           วันนี้ (๒๗ กันยายน ๒๕๖๐) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) เป็นประธานเปิดการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอนโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุไทย โดยมี นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และที่ปรึกษาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ๘๐ คน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา


           ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีความสนใจและพยายามที่จะศึกษาการจัดการศึกษาผู้สูงอายุ ด้วยความสำนึกถึงความสำคัญของผู้สูงอายุจากการเรียนรู้วิธีคิดจากประสบการณ์อันมีค่า จึงควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้กับผู้สูงอายุ และยังสอดรับกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ ที่กล่าวถึงประชาชนทุกช่วงวัยต้องได้รับการศึกษาหรือเรียนรู้ รวมทั้งได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุไทย เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน

 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

          นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ โดยเห็นได้จากการมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ การจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะ ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๖๔ รวมทั้งการเกิดขึ้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี ฯลฯ ทั้งนี้นโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุไทยควรมุ่งเน้น ๒ ประเด็น คือ ๑) การใช้ชมรมผู้สูงอายุเป็นฐาน ทำชมรมให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และ ๒) การใช้ผู้รู้ระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัดของตน เป็นปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้เน้นวิถีตามแต่ละบริบท นำสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อาทิ การดูแลสุขภาพ การประกอบอาชีพ 

 

          จากนั้น ดร.รุ่ง แก้วแดง รายงานสรุปการวิจัยเปรียบเทียบเพื่อพัฒนานโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อเน้นการพัฒนานโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุไทย โดยศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของไทย และการจัดการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในต่างประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง พบว่าทุกประเทศให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ มีการระดมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ มีการทำงานร่วมกันหลายองค์กร โดยเฉพาะภาคเอกชน ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัย แต่ละประเทศมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามบริบท แต่สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ การเรียนรู้เป็นการรวมกลุ่มทำกิจกรรม

 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

                สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย จากผู้เข้าร่วมการประชุมมีประเด็น ดังนี้ ๑) การจัดหาเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ ต้องมีการสร้างเครือข่ายโดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ควรมีการจัดอบรมการเขียนโครงการเพื่อนำเสนอของบประมาณ ๒) กำหนดทิศทางของการจัดหลักสูตรอย่างชัดเจน และหน่วยงานที่รับผิดชอบควรสนับสนุนความพร้อมของบุคลากร อาคาร และสถานที่ ๓) สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาและการป้องกันโรคสมองเสื่อมด้วยการเรียนรู้ ควรสื่อสารให้สังคมรับรู้และร่วมกันส่งเสริมการเรียนรู้ในผู้สูงอายุ ๔) การจัดหลักสูตรการเรียนรู้ ควรขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ๕) คำนึงถึงศาสตร์ทางจิตวิทยาหรือจิตตปัญญาศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาผู้สูงอายุ ๖) การจัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อให้เกิดการประสานงานและเชื่อมโยงกระบวนการทำงานทั้งระบบ ๗) สร้างระบบบริหารการจัดการของชมรมผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ

 

                ทั้งนี้ข้อเสนอที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ เพื่อนำมาเติมเต็มในการจัดทำนโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุของประเทศไทยได้มีโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองให้มีอายุยืนยาว ก้าวทันเทคโนโลยี และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี

 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด