สรุปประเด็นสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สรุปภารกิจและทิศทางการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐

image

 

 สรุปประเด็นสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง สรุปภารกิจและทิศทางการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์   รองเลขาธิการสภาการศึกษา



ประเด็นสนทนา

ผู้ดำเนินรายการ      รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจาก ดร. สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาและสรุปงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตลอดปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาว่า สกศ.ได้ดำเนินการเรื่องไหนไปบ้าง รวมทั้งทิศทางการทำงานในปีหน้าเป็นอย่างไรบ้าง ปีงบประมาณ ๒๕๖๐ จะสิ้นสุดในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐ ตลอดปีที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างไรบ้างและมีเรื่องใดบ้างครับ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินงานจัดทำ ๔ เรื่องหลัก คือ ๑) การจัดทำแผน ๒) การนำเสนอนโยบายมาตรฐานแห่งชาติ ๓) การประเมินและติดตามเครือข่ายของชาติ ๔) การจัดทำกฎหมาย เพราะฉะนั้นตลอดปี ๒๕๖๐ หน้าที่หลักของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เรื่องแรก คือ การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับเดิมหมดระยะเวลาปี ๒๕๕๙ ดังนั้น แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เริ่มประกาศใช้ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ตลอดช่วงระยะเวลา ๒๐ ปี (เรื่องนี้เป็นงานหลักที่ สกศ. ทำสำเร็จตลอดระยะเวลา ๓ – ๔ ปี)
       
      ส่วนอีกเรื่องที่ดำเนินงานสำเร็จและเป็นรูปธรรม คือ การพัฒนาเด็กปฐมวัย รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งมีผลสำเร็จหลายด้าน และมีโครงการที่สามารถทำให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด ๗๗ จังหวัด (อยากเพิ่มเติมว่า เรื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติไม่ได้เน้นเฉพาะ เรื่องการศึกษาในวัยเรียนเท่านั้น จะเน้นตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงช่วงวัยชรา และแผนชาติจะเน้นทั้งเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต ดังนั้น การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยจึงมีความสำคัญตลอดทุกช่วงวัย) แต่เนื่องจากภารกิจของ สกศ.ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฐมวัย ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ออกมาเป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามนโยบายการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบประเทศ
       
      เรื่องหนึ่งที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินงาน คือ การพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เรียกว่า NQF ซึ่งมีการพัฒนาคู่ขนานร่วมกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งเครือข่ายการศึกษาประชารัฐในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมนี้ได้มีการเปิดศูนย์ด้านการศึกษาข้อมูล เรียกว่า OEC Forum และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สกศ.ทำหน้าที่รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถรายงานสภาวะการศึกษาไทย เพื่อจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมการแข่งขันระดับเวทีโลก ทั้งหมดที่กล่าวมาคืองานภารกิจหลักที่ สกศ.จัดทำในปีที่ผ่านมา 
       
      นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มอบหมายให้ สกศ.ทำหน้าที่ฐานะฝ่ายเลขานุการ ปัจจุบัน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตั้งหน่วยงานที่ สกศ. ถนนสุโขทัย ดังนั้น สกศ. จึงรวบรวมพลังแรงกาย พลังแรงใจ มาทุ่มเทจุดนี้ เพราะว่าเป็นจุดสำคัญที่มีผลต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่สามารถควบคู่ขนานร่วมกับบทบาทหน้าที่ของ สกศ. 
       
       โดยหลายท่าน เรียก สกศ. ทำหน้าที่เสนาธิการทางด้านการศึกษา ซึ่งผลต่อจากนี้เป็นต้นไป อาจมีการปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง อาทิ ๑) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ยากไร้ หรือเรียกว่า กองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ๒) การพัฒนาเด็กเล็กตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยนำแผนการศึกษาที่จัดทำทั้งหมดของ สกศ. มาทำให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมทำคู่ขนานกับการปรับเปลี่ยนหรือการปฏิรูปด้านการผลิตและพัฒนาครู ให้เป็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 
       
      เรื่องสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ การปรับโครงสร้างทางด้านการจัดการศึกษา หมายความว่า มีการแก้กฎหมายโดยเฉพาะ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายแม่บท ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญการศึกษาเพื่อสามารถสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งมวล ทั้งนี้อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านอื่น ๆ เช่น กฎหมายระเบียบกระทรวง /เรื่องการจัดตั้ง คสช. / เรื่องเขตพื้นที่ ฯลฯ นำเรื่องทั้งหมดมาดูถึงเป้าหมายที่ต้องการจริงคืออะไร ดังนั้น ในส่วนที่ สกศ.ตั้งไว้  คือเรื่องการศึกษาแห่งชาติให้เด็กมีคุณภาพ โดยนำเด็กเป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้นในส่วนที่เสนอพิจารณา เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เรื่องการจัดสรรปรับเปลี่ยนงบประมาณให้ผู้เรียนโดยตรง ฯลฯ 
       
      ข้อสุดท้ายเป็นข้อที่สำคัญ คือ แม่บทหรือรัฐธรรมนูญการศึกษา เพื่อให้ตอบรับกับเรื่องที่จะมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอื่น ๆ เช่น เรื่องการจัดตั้ง คสช. เรื่องเขตพื้นที่ ฯลฯ จะนำเรื่องทั้งหมดนี้มาวิเคราะห์ถึงเรื่องเป้าหมายคือเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นในส่วนที่ สกศ. นำเสนอไป เรื่องการบริหารจัดการ การจัดทำงบประมาณ และเรื่องของตัวเด็กเป็นเรื่องสำคัญ มีข้อเสนอหลายเรื่องที่ได้นำเสนอพิจารณา เช่น การปรับเปลี่ยนวิธี การจัดสรรงบประมาณให้ผู้เรียนโดยตรง ทั้งในแผนการศึกษาแห่งชาติ การปรับเปลี่ยนกฎหมาย
       
ผู้ดำเนินรายการ      แต่ที่มีการปรับและเห็นอย่างชัดเจน คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ จากนี้ต่อไปทิศทางการทำงานในงบประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีการวางยุทธ์ศาสตร์การทำงานอย่างไรบ้างครับ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา     แผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙          เรียกว่า แผนแม่บท  ยุทธ์ศาสตร์อันดับแรก คือการศึกษาในปีหน้า มีการขับเคลื่อนแผนการศึกษา สามารถเป็นรูปธรรมให้ได้ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผล ซึ่งขณะนี้ สกศ. ได้คณะกรรมการสภาการศึกษาชุดใหม่ กำหนดจัดประชุมครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นประธาน พร้อมทั้งเรื่องการติดตามนโยบายต่าง ๆ มีผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด เป็นหน่วยงานกลางที่ไม่ได้มีความเอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ สกศ. เป็นหน่วยงานเสนาธิการด้านการศึกษาถือว่าเป็นหน่วยงานที่จะรับดำเนินการในเรื่องนี้ 
       
      เรื่องหนึ่งที่ สกศ. จัดทำขึ้นและต่อเนื่อง คือ การส่งเสริมให้มีสมัชชาการศึกษาต่างจังหวัด มี ๒ ชื่อ ดังนี้ ๑) สภาการศึกษาจังหวัด ๒) เครือข่ายสมัชชาประชารัฐ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกัน เรื่องนี้ได้ทำ MOU ทุกจังหวัด และได้นำร่อง ๔ จังหวัดแรกเมื่อปีที่แล้ว และจะขยายต่อไป สมัชชานี้เป็นการจัดทำเพื่อให้อาชีพหลายสาขามารวมตัวกัน ส่วนนี้จะไม่มีความซับซ้อนกับการบริหารหน่วยงานอื่นทั่วไป เป็นเพียงหน่วยเสริมที่ให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น เพราะบุคคลเหล่านี้ที่มารวมตัวกัน คือ ได้มองเห็นสภาพปัญหาตามพื้นที่และนำเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีความเกี่ยวข้องมาดำเนินการ
       
ผู้ดำเนินรายการ      งบประมาณที่ใช้ นำมาจากไหนครับ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา      มีหลายแบบครับ แต่แบบที่ สกศ. ออกแบบไว้ คือ แผนงานการศึกษาแห่งชาติ ได้ระบุให้มีแผนการศึกษาจังหวัด หรือ แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด ทั้งได้ สกศ. เชิญ กศจ. เขตพื้นที่ฯ เข้ามาร่วมจัดทำไว้ก่อนหน้านี้ และต่อไปสมัชชาที่มีความเข้มแข็ง อาจนำเสนอสิ่งเหล่านี้ใส่ไว้ในแผนการพัฒนาการศึกษาจังหวัด มีส่วนร่วมในการพัฒนาในเขตพื้นที่ ทุกจังหวัดได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาด้านประชาชน
       
 ผู้ดำเนินรายการ      การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตลอดปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา รวมถึงที่จะขับเคลื่อนให้ผลเป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ กำลังเตรียมพร้อม จากนี้ไปท่าน ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา จะมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา หรือ ประชาชนทั่วไป ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ
       
 รองเลขาธิการสภาการศึกษา      นำเรียนว่า แผนการศึกษาแห่งชาติที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการนี้ ได้มีการลงพื้นที่ทุกภาค เพราะฉะนั้นทุกคนมีส่วนร่วมในการทำแผนนี้ และเมื่อมีส่วนร่วมต้องมาดูเพิ่มเติมว่ามีส่วนไหนที่เกี่ยวข้อง หรืองานของหน่วยงานไหน เช่น ผู้ปกครอง สื่อมวลชน ฯลฯ มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ ใช้แผนการศึกษาชาติเป็นหลักในการกำหนดแผนพัฒนาประจำปีในแต่ละหน่วยงาน หมายความว่า สำหรับในการของบประมาณ โดยที่ สกศ.จะมีหน้าที่ทำการติดตาม ประเมินผล เพื่อนำมาสะท้อนและมาเสนอเป็นนโยบาย
       
ผู้ดำเนินรายการ     ช่วงนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนอยู่ใช่ไหมครับ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา     ยังเปิดอยู่ครับ โดยเฉพาะเรื่องการขับเคลื่อนที่จะก้าวไปข้างหน้าแนวทางของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูป สามารถดูรายละเอียดผ่านทางเว็บไซต์ www.onec.go.th เฟสบุ๊ค ชื่อ “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา” และนำข้อมูลมากำหนดเป็นรูปธรรมต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ     ถ้าหากว่ามีโอกาส เรียนเชิญท่าน ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา สนทนาถึงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณต่อไป วันนี้ขอขอบพระคุณท่านมากครับ
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด