สกศ. ประชุมวิชาการพิจารณาร่างแนวทางการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

image

 

          วันนี้ (๒๑ กันยายน ๒๕๖๐) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ประธานการประชุมวิชาการ “การพิจารณาร่างรายงานการศึกษาแนวทางการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดน : กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ” โดยได้รับความสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า ๖๐ คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ณ ห้องบงกชรัตน์ A โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ 

          อาจารย์วศิน โกมุท และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้นำเสนอรายงานการศึกษาแนวทางการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดน : กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ โดยสรุปสาระสำคัญคือ การศึกษาการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีดัชนีคุณภาพการศึกษาระดับต่ำของประเทศ เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนในเขตพื้นที่ชายแดนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยศึกษาปัจจัยความแตกต่างระหว่างพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ประชากร ภาษา เศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและการกระจายโอกาสทางการศึกษามีผลกระทบหรือไม่


   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   


         
 ทั้งนี้ คณะวิจัยตั้งสมมติฐานประเด็นความแตกต่าง ๕ ด้าน ประกอบด้วย ๑) บริบทสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอ จังหวัด การเดินทางลำบาก ๒) ความพร้อมของนักเรียน พื้นฐานครอบครัวของนักเรียนมีฐานะยากจน จึงมุ่งเน้นการทำงานหาเลี้ยงชีพสำคัญกว่าเรียนหนังสือ ๓) ครูไม่ได้จบตรงตามวุฒิตรงตามเอกมากเท่ากับครูในพื้นที่ปกติ และร้อยละ ๕๐ เป็นคนนอกพื้นที่จึงทำให้มีการโอนย้ายกลับภูมิลำเนาบ่อยครั้ง ๔) ขาดงบประมาณในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ครูจึงต้องปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่แทน และ ๕) นักเรียนส่วนใหญ่พูดภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาลาว เขมร ส่วย เยอ จึงมีปัญหาการสื่อสารด้วยการเขียนหรือการพูดจา ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนที่ต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง        

 


          ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า มิติการจัดการศึกษามีกว้างขวางและมีความหลากหลาย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างสิ่งสำหรับการเตรียมกำลังคนในอนาคต ๒๐ ปีข้างหน้า ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของโลก ทรัพยากรขาดแคลน สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี กรอบขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ ระยะ ๒๐ ปี ได้เปิดมุมมองใหม่ ๒ ประการ ๑.เน้นการศึกษาทุกช่วงวัย และ ๒.ตอบสนองกี่พัฒนากำลังคนรองรับไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะและความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ ซึ่งทำอย่างไรจะช่วยเติมเต็มและปรับแก้ร่างงานวิจัยนี้เพื่อตอบโจทย์การศึกษาให้คนไทยทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในพื้นที่ชายแดนซึ่งถือเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงการศึกษา โดย สกศ. มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเห็นว่าการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น ตราด แม่สอด ฯลฯ มีความสำคัญไม่แพ้พื้นที่ในเมืองใหญ่ 



 
 
 

          นอกจากนี้ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ได้อภิปรายร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม นายสมยศ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อสนับสนุนทีมวิจัยปรับปรุงและพัฒนากระบวนการวิจัยแนวทางดังกล่าวให้เกิดความสมบูรณ์ต่อไป      

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด