รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมรายการบ่ายนี้มีคำตอบ โชว์ผลงานเด่น สกศ. ขับเคลื่อนเครือข่ายการศึกษา - แผน ๗๗ จังหวัด ต่อยอดแผนการศึกษาชาติส่งท้ายปี ๒๕๖๐

image

 

          เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ร่วมสนทนา ในรายการบ่ายนี้มีคำตอบ ประเด็น “เกาะติดผลคืบหน้าสภาการศึกษาทำอะไรไปบ้าง?” ณ อาคารออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ โมเดิร์นไนน์ ทีวี เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๕ น.  


 

          ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สกศ. ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และแนวทางที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ มาตรา ๒๕๘ จ และมาตรา ๒๖๑ เพื่อจัดทำนโยบายด้านการศึกษา และเร่งขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ซึ่งเป็นแผนแม่แบบระยะ ๒๐ ปี ที่มี ๖ ยุทธศาสตร์ ๕ เป้าหมายหลัก นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลกระทบในวงกว้าง (Impact) และเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยมุ่งเน้นการใช้พลังเครือข่ายการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับพื้นที่ สนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และภาคสื่อมวลชน รวมเรียกว่าเครือข่ายพหุภาคี ๗ ภาคส่วน  โดยใช้ชื่อต่าง ๆ กัน เช่น สภาการศึกษา สมัชชาการศึกษาการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area based) เป็นต้น มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมดำเนินการจนปรากฏผลเป็นรูปธรรมใน ๑๕ จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปางสุโขทัย น่าน กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ยะลา สุรินทร์ นครราชสีมา มหาสารคาม ชลบุรี และตราด พร้อมเร่งขยายเครือข่ายการศึกษาประชารัฐ จนเต็มพื้นที่ ๑๘ ศึกษาธิการภาค เพื่อจุดประกายความคิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และภูมิสังคมของตน และมีการสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อการศึกษาที่เข้มแข็งและดำเนินการได้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนในที่สุด 

          ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า สกศ. ขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ ภายใต้เป้าหมาย ๕ เรื่องสำคัญคือ ๑. การเข้าถึงทางการศึกษา ๒. ความเท่าเทียมทางการศึกษา ๓. คุณภาพการศึกษา ๔.ประสิทธิภาพการศึกษา และ ๕. การศึกษาที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง อย่างสอดคล้องกับ ๖ ยุทธศาสตร์ของแผนคือ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และ นวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนา ศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การสร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงและสอดรับกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ กำหนดให้มีกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู เพื่อตอบโจทย์สำคัญคือเด็กจะได้อะไรจากแผนดังกล่าว และได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงเวลา ๑๕ ปี ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาระดับมัธยม 

            ทั้งนี้ สกศ. เร่งขับเคลื่อนเชิงลึกลงไปถึงแผนการศึกษาภาค ๑๘ ภาค และแผนการศึกษาของกรุงเทพมหานคร และ ๗๖ จังหวัด มุ่งเน้นเพิ่มสมรรถนะกำลังคนอนาคต ๒๐ ปี ตามความจำเป็นตามความต้องการเชิงพื้นที่ เร่งจัดทำฐานข้อมูลความต้องการกำลังคน ผลักดันผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมให้มีสัดส่วนเท่ากันคือ ๕๐ ต่อ ๕๐ ส่งเสริมให้มีผู้เรียนสายอาชีวศึกษาและสายสามัญศึกษาเพิ่มสัดส่วนเป็น ๗๐ ต่อ ๓๐ ส่งเสริมการเรียนเชิงปฏิบัติเพื่อเพิ่มทักษะด้านอาชีพด้วยทวิศึกษา และสหกิจศึกษา 

            อย่างไรก็ดี สกศ. มีบทบาทการเร่งปฏิรูปการศึกษาผ่าน ๒ คณะ คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) โดย สกศ. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ และคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐ เห็นชอบแต่งตั้ง กกศ. ชุดใหม่ โดย สกศ. เพิ่มบทบาทการตอบโจทย์สังคม โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมคาใจด้านการศึกษา อาทิ กฎระเบียบการลงโทษนักเรียน การเพิ่มหรือลดชั่วโมงเรียนของเด็ก หนังสือเรียน การเปิด - ปิดภาคเรียน เป็นต้น โดยจะมีการติดตามและมีคำตอบให้ 

          นอกจากนี้ สกศ. จะนำงานวิจัยเด่น ๆ มาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดจุดเน้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ใช่แค่จัดทำนโยบายการจัดการศึกษาชาติเท่านั้น พร้อมการพัฒนาแต่ละยุทธศาสตร์แปลงสู่การปฏิบัติและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนการศึกษาชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาการศึกษาระยะ ๕ ปี รองรับการพัฒนากำลังคนสู่ความเป็นประเทศไทย ๔.๐

 




image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด