สกศ.ชี้ สร้างวินัยนักเรียนไทยเป็นก้นบึ้งของการศึกษา

image

 

        วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๐ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการรูปแบบและกลไกการส่งเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : การเสริมสร้างวินัยนักเรียนไทยเพื่อรองรับสังคมศตวรรษที่ ๒๑ ณ โรงแรมรอยัล เบญจา กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวรายงาน ทั้งนี้มีผู้บริหารในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม


 

        การจัดการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษารูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาเปรียบเทียบของไทยและต่างประเทศ นำเสนอผลการพัฒนารูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 
 
 


        ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ประเด็นเรื่องการเสริมสร้างวินัยเป็นเรื่องที่กล่าวมานานแล้ว  ถือเป็นเรื่องสำคัญในการฝึกคน ประเด็นเรื่องวินัยจึงถือเป็นก้นบึ้งของการศึกษา ปัจจุบันท่านทั้งหลายในห้องประชุมนี้คงเคยพบกับเหตุการณ์การเอาตัวรอดของมนุษย์จนกลายเป็นการเห็นแก่ตัว แสวงหาผลประโยชน์ที่อาจทำให้หลายท่านวิตกกังวลหรือไม่สบายใจมาแล้ว ทั้งเรื่องการแซงคิว ขับรถไม่เป็นระเบียบ แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ไม่ซื่อสัตย์ ทุจริตการสอบ แล้วท่านจะทำอย่างไรจึงจะช่วยลูกหลานของท่านไม่ให้พบกับเหตุการณ์เหล่านี้ รัฐบาล คสช. จึงได้ตั้งค่านิยมใหม่ เป็นค่านิยม ๑๒ ประการขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความมีระเบียบวินัย ประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการชื่นชมในความมีระเบียบวินัยตั้งแต่เรื่องการเข้าแถว ทำอย่างไรประเทศไทยจะเป็นเช่นนั้นได้ อะไรเป็นกลไกในการหล่อหลอม ทุกคนจึงพุ่งเป้ามาที่การศึกษาอันจะช่วยให้คนมีระเบียบวินัย และทุกคนก็คาดหวังกับ สพฐ. หรือโรงเรียนจะเป็นแหล่งสร้างคนให้มีวินัยได้ แต่การศึกษาอย่างเดียวนั้นไม่อาจจะทำให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ คน ทุกๆ สถาบัน รวมถึงสถาบันครอบครัว 

 
 
 
 
 


        สกศ. มุ่งหวังให้คนไทยปลูกฝังการมีวินัย จึงหยิบยกวินัยสำคัญขึ้นมา ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลา ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ด้านการปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้จักกาลเทศะและเคารพสิทธิผู้อื่น และด้านการมิจิตอาสา เสียสละ ซึ่งเป้าหมายปลายทางของเรา คือ ต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงความมีระเบียบวินัยในตัวเอง มีจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันในสังคม จากที่ได้อ่านร่างงานวิจัยชิ้นนี้คิดว่าได้ตอบโจทย์แล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณ รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ได้ช่วยจัดทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา และหวังว่าทุกท่านที่มาประชุมในวันนี้จะช่วยวิพากษ์วิจารณ์ ให้ความคิดเห็น เพื่อให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

 
 
 

 

       นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการรูปแบบและกลไกการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : การเสริมสร้างวินัยนักเรียนเพื่อรองรับสังคมศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนไทยตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๗) มีเป้าหมายต้องขับเคลื่อนให้คนไทยมีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศ สามารถปรับตัวรองรับบริบทสังคมศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเห็นได้จากค่านิยม ๑๒ ประการของรัฐบาล โดยเฉพาะข้อ ๘ ที่ระบุไว้ว่า "มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่" นอกจากนี้หลักสูตรแกนกลาง พศ. ๒๕๕๑ ยังได้กำหนดให้การมีวินัยรวมอยู่ในจุดมุ่งหมายด้วย ทั้งนี้การสร้างวินัยจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังสร้างลักษณะนิสัยและต่อเนื่องถึงวัยเรียน มีกระบวนการเรียนรู้ มีเหตุผลตามลำดับของพัฒนาการ จึงเชื่อมโยงไปถึงการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญมาก

 

 

        สกศ. จึงดำเนินโครงการและศึกษาสภาพปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างวินัยของประเทศไทย และการสร้างวินัยในต่างประเทศ ทั้งในประเทศเยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม ใน ๔ ด้าน  คือ ๑) ด้านความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลา ๒) ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ๓) ด้านการปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้จักกาลเทศะ และเคารพสิทธิผู้อื่น และ ๔) ด้านการมีจิตอาสา เสียสละ ซึ่งผลการวิจัยจากโครงการนี้จะนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป

 
 



        นอกจากนี้การประชุมยังมีการเสวนา เรื่อง “ระบบและรูปแบบการเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และแนวโน้มการเสริมสร้างวินัยของพลเมืองของต่างประเทศ” โดย ๑) ผศ.ดร.ฤตินันท์ สมุทร์ทัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒) ผศ.ดร.มาตรี วงษ์สะพาน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม ๓) ดร.ประชา อินัง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ๔) ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ ๕) รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และในช่วงบ่ายมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด