สกศ. เดินหน้าพัฒนาเครือข่ายข้อมูลการศึกษาเฉพาะทาง พร้อมศึกษาดูงาน จ.นครนายก

image

 
 



          วันนี้ (๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐) นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาเครือข่ายข้อมูลการศึกษาเฉพาะทาง เพื่อติดตามและทบทวนรูปแบบการบริหารการจัดการของหน่วยงานที่จัดการศึกษาเฉพาะทาง หาแนวทางและกลไกการประสาน เชื่อมโยงเครือข่ายการจัดเก็บข้อมูของหน่วยงานที่จัดการศึกษาเฉพาะทางของไทย โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานที่จัดการศึกษาเฉพาะทาง ได้แก่ กลุ่มสายทหาร ตำรวจที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี เช่นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ฯลฯ กลุ่มสายทหาร ตำรวจที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เช่น กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนจ่าอากาศ ฯลฯ และข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุมกว่า ๖๐ คน ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก


 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

             นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา กล่าวว่า ทุกท่านที่มาในวันนี้คือส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการผลิตกำลังคนรองรับไทยแลนด์ ๔.๐ สำหรับการจัดการศึกษาเฉพาะทางตามมาตรา ๒๑ (๒) ระบุว่า ให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จัดการศึกษาเฉพาะทางตามาความต้องการ และความชำนาญของหน่วยงานนั้น โดยคำนึงถึงนโยบายและมาตรฐานการศึกษาชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งในกฏกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาเฉพาะทาง พ.ศ. ๒๕๔๗ ระบุว่า เพื่อให้การจัดการศึกษาเฉพาะทางเป็นไปตามหลักเณฑ์และวิธีการที่ต้องจัดให้สอดคล้องกับนโยบาย แผนการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยให้มีการประสานระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษาเฉพาะทางด้วยกันกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งนี้สถานศึกษาเฉพาะทางต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพภายนอกด้วย หากสถานศึกษาใดต้องการให้มีการเทียบวุฒิทางการศึกษาตามหลักสูตรของ ศธ. ให้เสนอขอเทียบวุฒิทางการศึกษาตามเกณฑ์ และวิธีการ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำหนด

             การประชุมครั้งนี้ต้องการให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ข้อมูลสภาพปัจจุบันในเรื่อง หลักสูตรและการเรียนการสอน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข เพื่อที่ สกศ. จำนำข้อมูลไปสนับสนุนการจัดทำนโยบายในส่วนของการจัดการศึกษาเฉพาะทางให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม นอกจากนี้เชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ต้องการให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ จบออกมามีงานทำ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป

             รองศาสตราจารย์ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านประกันคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มจริงจังกับการเมินคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีผลกระทบทุกสถานศึกษาทั่วประเทศต้องทำการประกันคุณภาพภายใน ปัจจุบันถึงเวลาที่ต้องมีการปฏิรูปการประกันคุณภาพ (QA) โดยเดินตามหลักสากลให้เป็น Quality Assessment & Innovation (QAI) ประกอบด้วย ๑) Q คือ การกำหนดมาตรฐานในทุกระดับ ได้แก่ National &Global needs , Society needs และ Employers needs ๒) A คือ ประเมินคุณภาพการศึกษา ได้แก่ IQA การประเมินตนเองในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง EQA การประเมินจากภายนอกเพื่อติดตามการพัฒนาของรัฐ และ Accreditation การับรองเพื่อความเชื่อมั่นต่อสังคม และ ๓) I คือ นวัตกรรม ได้แก่ Internal Correction (การแก้ไขปัญญาตนเอง) Improvement (การปรับปรุงให้ดีขึ้น) และ Innovation (นวัตกรรม) ทั้งนี้เป้าหมายของการประเมินคือ ประเมินเพื่อตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และติดตามการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

             นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสัมมนากับยูเนสโก้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สรุปประเด็นสำคัญ ๔ เรื่อง ได้แก่ ๑) ขณะนี้ใน Asia Pacific เปลี่ยนบทบาทจาก Teaching เป็น Learning ซึ่งการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ (Active Learning) เน้นการสังเกตุ ความเข้าใจ การทดลอง/การกระทำ การวิเคราะห์ การประเมิน ความคิดสร้างสรรค์ ๒) การวัดสมรรถนะ (Competency base) พิจารณาจากทัศนคติ (Attitude) ความรู้ (Knowledge) และ ทักษะ (Skill) ๓) Diversity of Knowledge (นวัตกรรม) โดยต้องการพัฒนานวัตกรรมไปสู่ Sustainable Development Goal4 (SDG4) จึงต้องตั้งเป้าหมายให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ๔) นำ IQA (การประเมินตนเองในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง) และ EQA (การประเมินจากภายนอกเพื่อติดตามการพัฒนาของรัฐ) มาเชื่อมโยงกัน ประเด็นทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทั่วโลกต้องการ ดังนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันพัฒนาประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

             พล.ต.ปัญญา ตุรงค์เรือง เสนาธิการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กล่าวว่า การจัดการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นักเรียนนายร้อยต้องศึกษาความรู้ทางวิชาการเหมือนกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นแล้ว ยังต้องฝึกศึกษาวิชาทหารและการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้นำ ปลูกฝังอุดมการณ์ คุณธรรม และจริยธรรม โดยหลักสูตรการศึกษาประกอบด้วย ด้านการทหาร ด้านการพัฒนาคุณลักษณะผู้นำ และด้านความรู้ทางวิชาการ นอกจากนี้ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นส่วนรับผิดชอบที่ให้การศึกษาทางด้านวิชาการแก่นักเรียนนายร้อย ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอักษรศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้นักเรียนนายร้อยสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี อันจะส่งเสริมความเป็นผู้นำและสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในอนาคต รวมถึงพื้นฐานในการศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นตามความต้องการของทางราชการได้

             การจัดส่วนการศึกษาประกอบด้วย ๑๑ กองวิชา ๑ กองเตรียมการและควบคุมการศึกษา และ ๑ ชุดอำนวยการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมแผนที่ โดยมีสาขาวิชาที่เปิดสอนจำนวน ๘ สาขา ใช้เวลา ๕ ปี ในการศึกษาตลอดหลักสูตร โดยจัดกองวิชาพื้นฐานให้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนนายร้อย ได้แก่ กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ กองวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ กองวิชาอักษรศาสตร์ กองวิชาประวัติศาสตร์ กองวิชาฟิสิกส์ กองวิชาเคมี และกองวิชาที่ให้การศึกษาตามสาขาที่นักเรียนนายร้อยได้เลือกเข้ารับการศึกษา ได้แก่ กองวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กองวิชาวิศวกรรมโยธา กองวิชาวิศวกรรมเครื่องกล กองวิชาวิศวกรรมสรรพาวุธ และชุดอำนวยการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมแผนที่ ตลอดระยะเวลา ๕ ปี นักเรียนนายร้อยจะได้ศึกษาในด้านวิชาการ ซึ่งมีวิชาพื้นฐาน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาการทหาร จิตวิทยา การนำทหาร ครูทหาร พลศึกษา และวิชาเลือกตามสาขา รวมทั้งการฝึก สอน อบรม และกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเป็นผู้นำ ซึ่งนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ ๑ จะศึกษาวิชาเรียนร่วมที่เป็นวิชาพื้นฐานเหมือนกันทุกนาย ส่วนนักเรียนชั้นปีที่ ๒ ถึงชั้นปีที่ ๕ นั้นจะแยกเรียนตามสาขาต่าง ๆ โดยกองทัพบกจะกำหนดความต้องการนายทหารสัญญาบัตรในแต่ละสาขา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้รับพระราชทานยศ เป็นร้อยตรี บรรจุเข้ารับราชการตามหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่กองทัพบกจัดสรร ได้รับปริญญาตรีตามสาขาที่เรียน และรับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

             สำหรับการประชุมเรื่อง การพัฒนาเครือข่ายข้อมูลการศึกษาเฉพาะทาง จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ. ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งกิจกรรมในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ ช่วงเช้า มีการบรรยายเรื่อง "การบริหารจัดการการศึกษาเฉพาะทางเพื่อการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา" โดย รองศาสตราจารย์ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านประกันคุณภาพการศึกษา ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หลังจากนั้นในช่วงบ่ายผู้เข้าร่วมประชุมได้ออกเดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก พร้อมฟังบรรยายเรื่อง "คุณภาพ และมาตรฐานการจัดการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" โดยมี พล.ต.ปัญญา ตุรงค์เรือง เสนาธิการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ให้การต้อนรับ

             กิจกรรมในวันที่สอง (๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๐) ช่วงเช้ามีการบรรยายเรื่อง "แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ กับการศึกษาเฉพาะทาง" โดย นายกวิน เสือสกุล ผู้อำนยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา และการบรรยายเรื่อง "แนวโน้มการพัฒนามนุษย์ที่ตอบสนอง Thailand 4.0 ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง "ทิศทางการจัดการศึกษาเฉพาะทางกับการเตรียมความพร้อมเพื่อผลิตกำลังคนรองรับ Thailand 4.0" หลังจากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มอภิปรายเรื่อง "คุณภาพ และมาตรฐานการจัดการศึกษาเฉพาะทาง" ๔ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มสายทหารและตำรวจที่จัดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ๒) กลุ่มแพทย์และพยาบาล ๓) กลุ่มสายทหารและตำรวจที่จัดหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรี และ ๔) กลุ่มสถาบัน/หน่วยงานที่ัดสายวิชาชีพช่าง สำหรับกิจกรรมในวันที่สาม (๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐) มีการนำเสนอผลการอภิปรายเรื่อง "คุณภาพ และมาตรฐานการจัดการศึกษาเฉพาะทาง" และการอภิปรายเรื่อง "การพัฒนาเครือข่ายข้อมูลการศึกษาเฉพาะทาง"

             ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปใช้สนับสนุนการจัดทำนโยบาย แผนการศึกษา การติดตามและรายงานผลการจัดการศึกษาในส่วนการจัดการศึกษาเฉพาะทางต่อไป



   
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด