สกศ. จัดเสวนานโยบายการศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - เอเชียตะวันออก ๒๐๑๗

image

 


วันนี้ (๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐) ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะประธานเปิดการเสวนานโยบายการศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - เอเชียตะวันออก ๒๐๑๗ หัวข้อ ผลกระทบต่อนโยบายการศึกษาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ภายหลังผล TIMSS และ PISA 2015 วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในระดับภูมิภาคของนักการศึกษาในการนำเสนอ แลกเปลี่ยน และรับทราบองค์ความรู้ ความเคลื่อนไหว ความก้าวหน้า ตลอดจนนวัตกรรมทางการศึกษา ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ประธานสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินสัมฤทธิผลทางการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินสัมฤทธิผลผู้เรียนจาก ๗ ประเทศ ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

           

            ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการพัฒนาผู้เรียนจะเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะ ซึ่งในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ยังมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในการคิด วิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาในนักเรียนไทย  รวมถึง คุณภาพการจัดการศึกษาทั้งในเมืองและชนบท ขนาดห้องเรียน ขนาดโรงเรียน คุณภาพครู การสอนที่เน้นการท่องจำ และรูปแบบการประเมิน กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดค่าเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ผลการทดสอบนานาชาติ PISA เป็นตัววัดสัมฤทธิผลการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชิญนักวิจัยจากระบบการศึกษาที่มีส่วนร่วมจัดการทดสอบความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ เทคโนโลยี มาร่วมบูรณาการศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยสัมฤทธิผลผู้เรียนกับการกำหนดทิศทางนโยบายและมาตรฐานการจัดการศึกษาชาติ ผ่านประสบการณ์จากนานาประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาของประเทศอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนบูรณาการไปสู่แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐- ๒๕๗๙ และ แผนขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายของนักการศึกษาจะนำไปสู่การทำความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันในอนาคต



ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปาฐกถานำ หัวข้อ Challenging Policy Issues to Transform Technology & Science Education in Thailand and Beyond: Post TIMSS & PISA 2015 โดยสรุปว่า ประเทศไทยทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ยังไม่ดี มีช่องว่างระหว่างโรงเรียนประเภทต่าง ๆ มาก จากผลการสอบ PISA โรงเรียนสาธิต โรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์จะได้สัมฤทธิผลสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาสจะได้คะแนนต่ำกว่ามาตราฐาน สิ่งเหล่านี้เกิดจากความไม่เท่าเทียมที่ไทยจำเป็นต้องเร่งแก้ไข โรงเรียนที่ผลสัมฤทธิต่ำ พบว่ามีทรัพยากรไม่เพียงพอ ทั้งด้านอุปกรณ์ และครูผู้สอน คุณภาพของโรงเรียนจึงด้อยกว่า ทั้งภูมิหลังของเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมแตกต่างก็มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ แม้ขณะนี้ผลของ TIMSS ดีขึ้น แต่ดีแบบไม่มีนัยสำคัญ ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งที่ไทยต้องเร่งแก้ไข สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการ คือ เด็กไทยยังขาดทักษะชีวิต ปัญหาท้องในวัยเรียน การใช้ความรุนแรง แก็งซิ่งรถ เพราะเด็กยังขาดเป้าหมายและทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา เรื่องการสอบ PISA และ TIMSS ยังขาดการส่งเสริมเท่าที่ควร เพราะไม่ได้อยู่ในวาระสำคัญการศึกษา รัฐมนตรีเปลี่ยนบ่อย การแก้ไขเป็นแบบเฉพาะหน้า ยังขาดการมองว่าเป็นปัจจัยเตือนที่ต้องแก้ไขอย่างครอบคลุม ปัจจุบัน เด็กไทยมีจำนวนน้อยลง และมีโรงเรียนขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการเท่าที่ควร ผลสัมฤทธิ์จึงมักไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการรวมกลุ่มสอน หรือให้นักเรียนนั่งรถมาเรียนรวมกัน ต้องมีการพัฒนา learning center เพื่อให้นักเรียนเข้าถึง เด็กสามารถเรียนรู้นอกห้องเรียน พ่อแม่ต้องมีบทบาทมาช่วยสอน โดยไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์มีหลายสถาบันที่สนับสนุนครูในทุกๆ ด้าน ทั้งวิชาการ ศิลปะ กีฬา มีเครื่องมือสนับสนุนครู มีครูต้นแบบ ครูที่ดูแลกันเป็นระดับชั้น ครูที่มีตำแหน่งสูงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ในไทยเมื่อครูมีตำแหน่งสูงขึ้น ยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องมีทำภารกิจอะไรเพิ่ม ดังนั้น ควรจะต้องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้น ในต่างประเทศ ครูต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่สอน ​การดำเนินงานของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการพัฒนาหลักสูตรการสอนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม การศึกษาที่มุ่งเน้นไปสู่อาชีวะมากขึ้น เน้นสายอาชีพมากกว่าสายวิชาการ มีการเรียนการสอนแบบทวิภาคี นักเรียนเรียนรู้ในห้องเรียนและฝึกงานในสถานศึกษาด้วย การศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นแค่นักเรียนแต่เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ทุกกลุ่มอายุ ไม่ว่าเป็นวัยแรงงาน ผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงการศึกษาต้องเตรียมคนให้พร้อม มีทักษะที่จะเข้าสู่ยุค ๔.๐ ซึ่งไม่เพียงแค่วิชาการอย่างเดียว ต้องมีความฉลาดทางบริบท สามารถเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ มีคุณธรรม รักษาสุขภาพ พร้อมรับคลื่นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำอย่างไรให้เป็นเกษตรกรรมยุคใหม่ สรุปได้ว่า เรื่องที่ไทยต้องคำนึงถึงและดำเนินการคือ ความเป็นธรรมในการศึกษา ลดช่องว่างทางการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียม ทิศทางในการศึกษาเปลี่ยนไปสู่การทำงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ การฝึกอบรมผู้สูงอายุ และ ความฉลาดที่เกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ยุค ๔.๐



            นางสาวประภา ทันตศุภารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ กล่าวว่า การประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น IMD และ World Economic Forum ได้ใช้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับนานาชาติ เช่น PISA ของ OECD หรือ TIMSS ของ IEA เป็นหนึ่งในปัจจัยวัดคุณภาพการจัดการศึกษาของแต่ละระบบการศึกษา ดังนั้นผล TIMSS และ PISA 
จึงเป็นข้อมูลตั้งต้นให้ผู้บริหารกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต จึงได้เชิญผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบนานาชาติ เพื่อวัดสัมฤทธิผลผู้เรียนในการคิด วิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ประเทศไทย และเอเชียตะวันออก ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน รวม ๗ ท่าน มานำเสนอยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มคุณภาพผู้เรียน โดยนำผล TIMSS และ PISA 2015 เป็นกรณีศึกษา


 
   
   
   



   
   
   




ดาวน์โหลดเอกสารนำเสนอในงานเสวนา ได้ที่นี่
          - Policy Issues to Transform Technology & Science Education in Thailand and Beyond
          - Malaysia Country Report
          - Policy Dialogue on STEM Education Singapore
          - Policy Dialogue 2017
          - Singapore STEM Education
          - Lessons from TIMSS
          - Update info in Regional Math Science & Possible Collaboration



image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด