สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันศุกร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร.ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ์   รองเลขาธิการสภาการศึกษา

ประเด็นสนทนา



ผู้ดำเนินรายการ:     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ก่อนอื่นขอให้ท่านให้ความหมายกับคำว่า ระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Credit Bank System หมายถึงอะไร และเกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้  หรือ Credit Bank System เป็นแนวความคิดของการศึกษาระบบเปิดที่ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียน/ผลการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์การทำงาน/อาชีพ หรือการฝึกอบรม ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย นำมาสะสมไว้ในฐานข้อมูล คล้ายกับการฝากธนาคาร เมื่อผลการเรียนสะสมได้ในระดับที่ตกลงกันไว้ตามหลักสูตรที่ได้ลงทะเบียนไว้ ถือว่าสามารถสำเร็จการศึกษา หรือได้รับการรับรองว่า มีความรู้ ความสามารถเทียบเท่ากับระดับการศึกษานั้น ๆ ซึ่งคล้าย ๆ กับการสะสมหน่วยกิต แต่เปิดให้สำหรับคนทั่วไป ที่ไม่ใช่นักเรียน นักศึกษาด้วย การศึกษาระบบเปิดเชื่อว่า บุคคลสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การเรียนในมหาวิทยาลัย การอ่านหนังสือ สื่อออนไลน์ การปฏิบัติงาน การประกอบอาชีพ ฯลฯ  ระบบนี้ต้องการนำการเรียนรู้ต่าง ๆ มาแปลงเป็นหน่วยกิต และนำมาสะสมไว้ ตัวอย่าง นาย ก. เป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทำงานเก่ง มีความสามารถและประสบการณ์ในการทำงาน นาย ก. นำความรู้และประสบการณ์มาประเมินตามหลักสูตรได้ ถ้าต้องการปรับเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะต้องพิจารณาว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีกี่หน่วยกิต นาย ก. ต้องมาทดสอบกับหน่วยงานเพื่อพิจารณาว่า พื้นฐานความรู้มีเท่าไร ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ และการประเมิน ถ้าระดับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมี ๘๕ หน่วยกิต เมื่อนาย ก. มาทดสอบการประเมินได้ ๕๐ หน่วยกิต เหลืออีก ๓๕ หน่วยกิต ดังนั้นจะทำให้ นาย ก. ต้องเรียนเพิ่มเติมตามที่นักแนะแนวกำหนด ไม่ว่าจะเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา เรียนในวิทยาลัย อ่านหนังสือ เรียนออนไลน์ ฯลฯ หลังจากนั้นมาทดสอบที่หน่วยที่ตั้งขึ้น ทดสอบได้กี่หน่วยกิตสามารถสะสมไว้ Credit Bank ไม่จำกัดระยะเวลา เมื่อได้เกณฑ์ครบ ๘๕ หน่วยกิตตามที่กำหนดไว้แล้ว นาย ก. จึงสามารถจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้
       
ผู้ดำเนินรายการ:     นักเรียนในระบบสามารถสะสมหน่วยการเรียนรู้ได้หรือไม่
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่กรอบความคิด มีบางหน่วยเริ่มทดลองทำแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ ที่เรียกว่า การศึกษาระบบเปิด เป็นการเปิดให้ใครก็ได้ที่สนใจอยากจะเข้ามาสู่ระบบการทดสอบ เพื่อประเมินรับรองความรู้ ขั้นตอนต่อไปคือ การเจรจากับสถาบันการศึกษาว่า ยินดีที่จะนำหลักสูตรเข้าสู่ระบบนี้มากน้อยเพียงใด สิ่งที่คล้าย ๆ กัน คือ การที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทำอยู่ที่เรียกว่า การเทียบระดับ จะมีทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กำลังดำเนินการอยู่นั้น ต้องการครอบคลุมหลักสูตรทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยเชื่อมโยงกับสมรรถนะ และกรอบคุณวุฒิวิชาชีพด้วย 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     การดำเนินงานจะเป็นการดำเนินงานซ้ำซ้อนของหน่วยงานกันหรือไม่ 
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินงานเต็มรูปแบบ ที่ใกล้เคียงกันคือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ในอนาคตถ้างานวิจัยนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการปรึกษาหารือกับกระทรวงศึกษาธิการว่าจะสถาปนาระบบการศึกษาแบบนี้ได้อย่างไร หน่วยงานใดที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ต้องอาศัยระบบสารสนเทศเพื่อทำการเก็บข้อมูล ตั้งแต่การลงทะเบียน การสร้างสมุดบัญชีสะสมหน่วยกิจ Credit Bank การประเมิน ฯลฯ ทั้งนี้ สกศ. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ท่านคิดว่าการดำเนินการครั้งนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อใด
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     เรื่องนี้ตอบได้ไม่ชัดเจน เพราะว่า ประเด็นนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัย และกำลังตกผลึกทางความคิด ถ้ากรอบความคิดดังกล่าวชัดเจนและเป็นไปได้จะนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเรียนรู้ต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ:     แสดงว่าจำเป็นต้องนำไปเชี่อมโยงในเรื่องหลักสูตร แผนการศึกษา ฯลฯ ด้วย
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ใช่ครับ ถือว่าเป็นความพยายามของ สกศ. ที่จะศึกษาวิจัยเพื่อสร้างแนวความคิด หรือนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อเสริมการเรียนรู้ ซึ่งตอบสนองการเรียนรู้ในโลกปัจจุบัน เพราะการศึกษาในปัจจุบัน ความรู้มีอยู่ทั่วไป ไม่ได้อยู่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น ระบบนี้จะรองรับความต้องการการเรียนรู้ของคนได้กว้างขวาง หลากหลายขึ้น 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     หน่วยงานที่จะให้การรับรองจะเป็นหน่วยงานใด
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     จะต้องมีการปรึกษาและพูดคุยกันในรายละเอียด เพราะต้องมีการออกประกาศนียบัตรด้วย อาจเป็นสถานศึกษาใด สถานศึกษาหนึ่ง จังหวัดหนึ่งอาจมีหนึ่งแห่งเพื่อทำหน้าที่รองรับระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ในระหว่างที่เรื่องนี้ยังเป็นงานวิจัยอยู่นั้น สิ่งที่ท่านจะได้แนะนำกับผู้สนใจทั่วไป คนที่ใฝ่รู้ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ควรทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการรับรอง
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ผู้ที่สนใจจะใช้ระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการสะสมหน่วยการเรียนรู้ ที่ กศน. ทุกจังหวัด มีระบบคล้าย ๆ ระบบนี้ เรียกว่าเทียบระดับการศึกษา สามารถไปทดลองใช้ระบบดังกล่าวได้ก่อน กศน. สามารถรับรองวุฒิได้ในระดับตั้งแต่ ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่ง กศน. ได้ดำเนินการทำเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ สำหรับงานวิจัยที่ สกศ. กำลังดำเนินการอยู่นี้จะต่อยอดจากสิ่งที่ กศน. ได้ทำไว้ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และขยายมุมมองของการรับรองความรู้มากขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สามารถนำไปใช้กับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้นหรือไม่
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     งานวิจัยนี้ใช้สำหรับการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่คณะทำงานคิดที่จะขยายผลไปถึงระดับมหาวิทยาลัย ตัวอย่างที่ต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลี มีระดับนี้แล้ว และใช้ถึงระดับมหาวิทยาลัย ถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าทางความคิดของการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่พยายามที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยพื้นฐานความคิดมากจากการเทียบโอนความรู้ต่าง ๆ เข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับต่าง ๆ 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     จะแตกต่างกับการเทียบโอนอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     การเทียบโอนจะทำเฉพาะหลักสูตร เฉพาะบุคคล แต่ระบบนี้เป็นระบบเปิดจริง ๆ คนไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาที่นั่นก็ได้ เป็นการเปิดกว้างให้คนเรียนรู้ได้หลากหลาย 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สุดท้ายนี้ ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) จะฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา   
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพยายามที่จะสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยใช้แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นตัวนำ และดึงหลาย ๆ ประเด็นที่อยู่ในแผนการศึกษาแห่งชาติมาขยายความ หรือทำเป็นงานวิจัย เพื่อที่จะส่งต่อให้กับหน่วยปฏิบัติ เพื่อให้แผนการศึกษาแห่งชาตินำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ๆ และขณะนี้ สกศ. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในการที่จะนำประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ หรือสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย การปฏิรูปครู การปฏิรูปการเรียนการสอน ฯลฯ อยากให้ผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมาสามารถติดตาม หรือชี้แนะให้ สกศ. นำไปสื่อสาร ศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวคิดต่อ สกศ. ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกท่าน โดยสามารถส่งข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ขอบพระคุณ และสวัสดีค่ะ
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

 

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด