สกศ. ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

image

 

            เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณา (ร่าง) รายงานการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้พิจารณา ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขรายงานการวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นสำหรับนำไปเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป มี นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี อาคาร ๑ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

            ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) มีความสำคัญ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการสอนอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากการเอาตัวไปสัมผัสกับประสบการณ์ต่าง ๆ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทำงาน และการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ประเทศเกาหลีเป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้คำว่า Credit Bank System ซึ่งกระทบต่อระบบการศึกษา สถานการณ์ปัจจุบัน และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ทลายกำแพงโรงเรียนออกไป ในวงปฏิรูปการศึกษากล่าวว่า “โรงเรียนต้องเป็น Learning Center” ดังนั้น การที่ประเทศไทยดำเนินการจัดทำระบบรับรองและเทียบโอนความรู้ขึ้นมา คือการยอมรับความรู้ซึ่งเกิดจากกระบวนการเหล่านี้ อย่างไรก็ดีขอยืนยันว่าระบบที่จะสร้างให้ความรู้และประสบการณ์ของคนทำงาน คนใช้ชีวิต คนที่เรียนรู้จากโลกปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดี และมีคุณค่ามาก คำถามที่มักจะถามว่า แล้วจะรวบรวมหรือรับรู้ได้อย่างไรว่า กระบวนการเรียนรู้ของคนนั้นมีการจัดระบบไว้ งานวิจัยนี้จะเป็นการตอบโจทย์ว่ามีระบบสารสนเทศที่รวบรวมผลของการเรียนรู้ ผลของการทำงาน หวังว่าการทำวิจัยของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาจะตอบโจทย์ และทำให้ระบบการรับรองความรู้และประสบการณ์ หรือระบบ Credit Bank System มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดระบบ Credit Bank System ชัดเจนเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ต่อไป

            การประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณา (ร่าง) “รายงานการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” เพื่อคณะนักวิจัยจะได้รับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ไปปรับปรุงรายงานให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถนำสู่การปฏิบัติได้ รวมทั้งการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ไปใช้ในวงกว้างทั่วประเทศได้ต่อไป



 
 
 
 


            นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่าสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ โดยศึกษาระบบการรับรองผลการเรียนรู้สำหรับการเทียบโอนผลการเรียน การเทียบความรู้และประสบการณ์ และแนวทางการจัดทำระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ของประเทศไทยและต่างประเทศ หลังจากนั้นได้มีการจัดทำโครงการ ๒ โครงการ คือ ๑) โครงการการพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาของผู้เรียน โดยใช้ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการทดลองนำร่องรูปแบบการบริหารจัดการการพัฒนาระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้กับสถานศึกษาทุกสังกัดและประเภทการศึกษาจำนวน ๑๒ แห่ง ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก และ ๒) โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบสารสนเทศที่ใช้ในการเรียนแบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนทดลองนำร่องระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นกับสถานศึกษานำร่องระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการและจัดทำเป็น (ร่าง) รายงานการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนจัดทำคู่มือการติดตั้งและการใช้โปรแกรม FTP (File Transfer Protocol) และโปรแกรมการจัดการระบบฐานข้อมูล MySQL สำหรับระบบสารสนเทศเพื่อการรองรับการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System)

 
 
 
 
 
 
 


            สำหรับการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอ (ร่าง) รายงานการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนำเสนอระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System)  ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพัฒน์ เชื้อไทย รองอธิการบดีด้านบริหารยุทธศาสตร์และแผนพัฒนา มทร.ล้านนาตาก และคณะ หลังจากนั้นมีการอภิปราย (ร่าง) รายงานการวิจัยฯ โดย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รศ.ฐาปนีย์ ธรรมาเมธา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สกอ. และอาจารย์ธีราทร ซนีเย็ง รองผู้อำนวยการสถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไทย-เยอรมัน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด