สกศ. ประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. … ครั้งที่ ๕

image

 



        วันนี้ ( วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ) นายชาญ ตันติธรรมถาวร ศึกษาธิการภาค ๗ รับมอบจากดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. … ครั้งที่ ๕ และเป็นวิทยากรนำเสนอ เรื่อง ศักยภาพของภาคการศึกษาในการตอบสนองกำลังคนของผู้ประกอบการ ณ โรงแรมรอยัลเบญจา กรุงเทพมหานคร การประชุมฯ ดังกล่าวมีการนำเสนอ เรื่อง ความต้องการกำลังคนของผู้ประกอบการ โดยนายจำเนียร วัยวัฒน์ senior Vice President ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานโลจิสติกส์ และดร.พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี ที่ปรึกษาสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต ในช่วงบ่ายของการประชุมฯ มีการแบ่งกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑) ผู้บริหารศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่ และสถานศึกษา กลุ่มที่ ๒) ศึกษานิเทศก์ และครู กลุ่มที่ ๓) ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนจังหวัด นักวิชาการ สถานประกอบการ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าฯ สกอ. และศอส. เพื่อให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ พร้อมทั้งนำเสนอผลการประชุมฯ ของทั้ง ๓ กลุ่ม

 

 

        นายชาญ ตันติธรรมถาวร  กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาได้จัดทำร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งร่างเดิมได้ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗  ที่ผ่านมากระแสการของโลกมีการปฏิวัติเทคโนโลยี ส่งผลให้การขับเคลื่อนต่างๆ บนโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศจึงต้องพัฒนาประเทศของตนให้มีมาตรฐาน สามารถเทียบเคียงกับเวทีโลกได้ ในส่วนของประเทศไทยได้มุ่งมั่นพัฒนาคน ตามสาระในรัฐธรรมนูญที่ว่า "การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ" ฉะนั้นการศึกษาในปัจจุบันต้องสร้างคนทุกช่วงวัยให้มีสมรรถนะ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของชาติในครั้งนี้ เพื่อให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ มุ่งสู่ผลลัพธ์เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดย (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ ฉบับนี้ มี ๔ มาตรฐาน ได้แก่ ๑) ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ๒) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ๓) ผู้มีทักษะทางสังคมและการดำรงชีวิต และ ๔) ผู้มีความเป็นพลเมือง ซึ่งใน ๔ มาตรฐานนี้ประกอบด้วย ๑๔ ตัวบ่งชี้  ซึ่งปัจจุบันพบว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ จึงไม่เกิดความเชื่อมโยง สอดคล้องกับการศึกษาในทุกช่วงวัยและทุกระดับ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนจึงไม่ถูกส่งต่อจากช่วงชั้นหนึ่งไปอีกช่วงชั้นหนึ่ง มาตรฐานการศึกษาของชาติไม่ถูกขับเคลื่อน และด้วยบทบาทหน้าที่ของรัฐทำให้เกิดการผูกขาดทางการศึกษามากเกินไป ส่งผลให้ภาคเอกชนที่มีความสามารถในการจัดการศึกษาไม่สามารถเข้ามาดำเนินการจัดการศึกษาได้ 


       สุดท้ายได้ฝากให้ผู้เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ได้พิจารณา เรื่อง ความเชื่อมต่อของการจัดการศึกษา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการเรียนของเด็กแต่ละช่วงวัยสามารถส่งต่อไปยังการเรียนต่อในช่วงชั้นอื่นๆ ได้ที่สำคัญคุณลักษณะของเด็กต้องมีความต่อเนื่อง ติดตัวตลอดชีวิต จึงจะทำให้ได้พลเมืองที่ดี มีทักษะ สามารถดำรงชีวิตได้ในสังคม และให้ทุกคนช่วยกันพิจารณาว่ามาตรฐานการศึกษาแต่ละช่วงวัยตอบโจทย์ทั้ง ๔ มาตรฐานหรือไม่

 
 
 
 
 


        นายจำเนียร วัยวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของสถานประกอบการและภาคการผลิต ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนและแรงงาน เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่าในตอนนี้ประเทศไทยมีแรงงานอยู่จำนวนเท่าไร และยังขาดแรงงานหรือกำลังในส่วนไหน เพื่อเตรียมพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานทางด้านการศึกษาในการผลิตและป้อนคนเข้าสู่สถานประกอบการให้ตรงตามความต้องการ ทั้งนี้จำเป็นจะต้องมีการเรียนการสอนนอกห้องเรียน อาทิ การศึกษาดูงานตามสถานประกอบการ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ การเรียนจริง รู้จริง และทำจริง รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์แนะแนวต้องมีความทันสมัย อาจารย์ผู้สอนต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 

 



หลังจากประชุมฯ กลุ่มย่อย ผลปรากฎว่า ทั้ง ๓ กลุ่มมีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการนิยามศัพท์ของตัวบ่งชี้ต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การตีความและการปฏิบัติที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมาตรฐานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้จริง และครอบคลุมคนทุกช่วงวัย 
ทั้งนี้ หลังจากทำประชาพิจารณ์เสร็จสิ้น และได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นทั้งหมดที่ได้ นำมาร่างมาตรฐานให้มีความสมบูรณ์  ซึ่งจะทำให้ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. … มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น หน่วยงานทุกสังกัด ทุกระดับ/ประเภทการศึกษาสามารถใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษา และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

 
 
 
 
 
 
 
 
 


ท่านสามารถดูภาพบรรยาการได้ที่


 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด