สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นและสื่อสารสังคม

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ความก้าวหน้าคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นและสื่อสารสังคม คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นางภัทรียา สุมะโน รองประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็นและสื่อสารสังคม


ประเด็นสนทนา


 ผู้ดำเนินรายการ:     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากคุณภัทรียา สุมะโน รองประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็นและสื่อสารสังคม ร่วมพูดคุยในประเด็น “ความก้าวหน้าคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นและสื่อสารสังคม คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” ก่อนอื่นขอเรียนถามเกี่ยวกับประเด็นที่จะมีการรับความความคิดเห็นและสื่อสารสังคม
       
คุณภัทรียา:     คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ ๖ ชุด ได้แก่ ๑) คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ๒) คณะอนุกรรมการกองทุน ๓) คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ ๔) คณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน ๕) คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และ ๖) คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม โดยมี มีวาระ ๒ ปี
       
      คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นและสื่อสารสังคม มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ โดยมี นายตวง อันทะไชย เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ และดิฉัน นางภัทรียา สุมะโน เป็นรองประธานอนุกรรมการ อำนาจหน้าที่ ได้แก่ ๑) สื่อสาร และสร้างความเข้าใจแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในประเด็นการดำเนินการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ๒) ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้กระบวนการในการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท ๓) เสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาพิจารณา และ ๔) ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามอบหมาย
       
      สำหรับประเด็นที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมจะไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ คือภารกิจ ๕ เรื่องที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้แก่ เด็กเล็ก กองทุน ครูและอาจารย์ การจัดการเรียนการสอน และการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 
       
ผู้ดำเนินรายการ:      ถ้าเปรียบเทียบการปฏิรูปจากหลายครั้งที่ผ่านมา การปฏิรูปครั้งนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างไร
       
คุณภัทรียา:     จุดเด่น คือ การปฏิรูปครั้งนี้มีความชัดเจนในเรื่องภารกิจ ก่อนหน้านี้ทำมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ จากนั้นมีมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเช่นเดียวกัน เรื่องระบบการศึกษาของประเทศเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก มีความซับซ้อนในเรื่องของปัญหาต่าง ๆ ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้วิเคราะห์ว่าเรื่องหลัก ๆ มีอะไรบ้าง จึงกำหนดให้ ๕ เรื่องตามคณะอนุกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะคลอบคลุมทั้งระบบการศึกษา กำหนดไว้ว่าในระยะเวลา ๒ ปี จะต้องดำเนินการทำ ๕ เรื่องให้เสร็จ โดยเฉพาะเรื่องกองทุน จะต้องร่างกฎหมายกองทุนการศึกษาของชาติให้เสร็จภายใน ๑ ปี (ภายในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๑) 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหารือ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษากับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ขอเรียนถามท่านว่านายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไว้อย่างไร
       
 คุณภัทรียา:     นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการดำเนินงานหลายประเด็น ได้แก่ ประเด็นระบบการศึกษาของชาติที่จริงไม่ได้ล้มเหลว เพียงแต่มีปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้น ควรทำกรอบหลักการพื้นฐานของการปฏิรูปการศึกษา ทั้ง ๕ เรื่อง ได้แก่ เด็กเล็ก กองทุน ครูและอาจารย์ การจัดการเรียนการสอน และการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
       
      ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาก เด็กทั่วประเทศไม่ได้เข้าสู่ระบบครบถ้วน ทุกคน บางคนต้องลาออกกลางคัน จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ และไม่มีโอกาสเรียนต่อ ว่างงาน ฯลฯ ดังนั้นคณะอนุกรรมอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาต้องช่วยกันคิด แก้ปัญหา 
       
      ประเด็นการศึกษาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะการศึกษาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของครู ครูต้องได้รับการอบรม ครูต้องทันสมัย ทันโลก พัฒนาการสอน คิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีใหม่สอนเด็ก เช่น Facebook Youtube โดยการรวบรวมเนื้อหาการเรียนการสอน และครูจะต้องพัฒนาตนเพื่อนำไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ 
       
ผู้ดำเนินรายการ:    
เมื่อกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอมีความน่าสนใจมาก ในการที่จะให้ครูได้พัฒนาตามไปด้วย แต่บางครั้งอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีที่มาใหม่ ๆ ครูจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็ก แต่บางครั้งครูยังไม่มีความพร้อมในการหาอุปกรณ์ เทคโนโลยีเหล่านั้นมา จึงต้องมีการจัดอุปกรณ์ และวัสดุต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างให้ครูได้เกิดการพัฒนาด้วยใช่หรือไม่
       
คุณภัทรียา:      ใช่ค่ะ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งมีภาคเอกชนเข้ามาสร้างประชารัฐให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ขณะนี้ประมาณ ๒๐๐ โรงเรียน โรงเรียนประชารัฐมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น โน้ตบุ๊ค จานดาวเทียม เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ โดย บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาให้การสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ๑๒ แห่ง ให้การสนับสนุนด้วย ขณะนี้มีการขยายตัว รวมทั้งมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องทุน อุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ที่ครูจะได้รับการพัฒนาโดยอุปกรณ์เหล่านี้ ขณะนี้กำลังดำเนินการทุกภาคส่วน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะต้องลดภาระของรัฐบาลให้ได้ 
       
ผู้ดำเนินรายการ:      ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นในการที่จะรวบรวม ประมวลความคิดเห็นต่าง ๆ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมจะเริ่มดำเนินงานเมื่อใด และจะเผยแพร่สู่สาธารณชนด้วยหรือไม่ อย่างไร 
       
คุณภัทรียา:     คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมแม้จะเพิ่งแต่งตั้ง แต่ได้มีการประชุมไป ๒ ครั้ง การรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน เป็นการสื่อสารสองทางกับประชาชน การรับฟังความคิดเห็นจะต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังประชาชน ส่วนการสื่อสารคือการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง 
       
      คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมได้กำหนดการดำเนินงาน ประมาณวันที่ ๒๕ – ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ จะลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นภาคอีสาน ประเด็นในการรับฟังความคิดเห็น คณะ     อนุกรรมการฯ ได้เสนอโครงการศึกษารวบรวม ระดมความคิดเห็น เพื่อพัฒนาการศึกษา และสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของชาติ โดยลงพื้นที่ ๔ ภาคของประเทศ ในการประชุมระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ท้องถิ่น ฯลฯ ในรูปแบบการประชุมสัมมนา สัมภาษณ์ โดยใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลภาคสนาม และนำมาวิเคราะห์ข้อมูล รายงานผลและเสนอแนะ สำหรับประเด็นสื่อสารสังคม คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการจัดทำแผนการสื่อสารสังคมเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และเตรียมการเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในวันอังคารที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ โดยจะใช้สื่อเพื่อบูรณาการทุกช่องทาง
       
      คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมประกอบด้วยบุคลากรที่มีความชำนาญ ๒ ส่วน คือ ทั้งส่วนวิชาการที่รับฟังความคิดเห็น และส่วนการสื่อสารสังคม
       
ผู้ดำเนินรายการ:     เรียกว่าเป็นการประสานงานในการเชื่อมโยงในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน และนำมาเผยแพร่ต่อ นอกจากนี้ยังเป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งรับฟังความคิดเห็น นำมากลั่นกรอง ผ่านกระบวนการสื่อสารต่อเพื่อให้เข้าใจโดยทั่วกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีทางแก้ไขอะไร อย่างไร ใช่หรือไม่
       
คุณภัทรียา:     ใช่ค่ะ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม โดยมี นายตวง อันทะไชย เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ และดิฉัน นางภัทรียา สุมะโน เป็นรองประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการประกอบด้วย นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา นายจรูญ ไชยศร พลเอกจิระ โกมุทพงศ์ รองศาสตราจารย์ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นายบุญเลิศ คชายุทธเดช นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ นายภัทระ คำพิทักษ์ นางเรียม สิงห์ทร ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ และนายองค์กร อมรสิรินันท์ 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     แต่ละท่านอยู่ในแวดวงการศึกษามานาน หลังจากนี้ถ้ามีความก้าวหน้าอะไรเพิ่มเติม วิทยุศึกษายินดีที่จะเผยแพร่ข้อมูลการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นประโยชน์
       
คุณภัทรียา:     ขอบคุณมากค่ะ ขอฝากให้ท่านผู้ฟังว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาทั้ง ๒๕ คน ที่เข้ามารับงานใหญ่ของชาติ หลาย  ๆ คนฝากความหวังในการปฏิรูปการศึกษากับคณะกรรมการชุดนี้ คณะกรรมการชุดนี้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างมากที่จะแก้ไขระบบการศึกษาของชาติเพื่อให้เด็กได้เติบโต และเป็นคนดีของชาติต่อไป ขอให้ท่านผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา และทุกฝ่ายให้กำลังใจและแรงสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาด้วย 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     คุณผู้ฟังทางบ้านคงเตรียมกำลังใจไว้ให้เต็มที่ และคงรอรับฟังว่าเรื่องราวความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่จะมาบอกกล่าวเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อไป วันนี้ขอขอบพระคุณ นางภัทรียา สุมะโน รองประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็นและสื่อสารสังคม คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด