สกศ. จัดประชุม OEC Forum “ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ”

image

 
 

 

                  วันนี้ (๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐) ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสภาการศึกษาเสวนา (OEC  Forum) ครั้งที่ ๑๙ เรื่อง “ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ” เพื่อเป็นเวทีสำหรับวิพากษ์ อภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐด้านการศึกษาซึ่งมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายเพื่อให้การใช้ง่ายงบประมาณด้านการศึกษาภาครัฐเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค เป็นธรรม เท่าเทียม และทั่วถึง โดยมี นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำเสนอ “ประเด็นค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอ “ประเด็นข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี ในประเทศไทย” Mr.Hugh Delaney หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นำเสนอประเด็น “ข้อเสนอเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา” Dr. Akihiro Fushimi ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นำเสนอ “ประเด็นบทเรียนจากต่างประเทศด้านการพัฒนาการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษา” ดำเนินรายการโดย ดร. รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ Mr. Thomas Davin ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวปิดการประชุม นอกจากนี้มี ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ผู้แทนจากสถานทูต และองค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษาในประเทศไทย ผู้บริหารและข้าราชการจากองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า ๒๕๐ คน ณ ห้องกรุงธนบอลล์รูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

 
 
 
 


                  ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมและกล่าวตอนหนึ่งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นด้านการศึกษา ประเด็นที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา และการจัดการศึกษา หรือเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ การจัดสภาการศึกษาเสวนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒๐ ประเด็น “ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย ดำเนินการร่วมกับ ยูนิเซฟประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนใจศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมานาน ครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศไทยและนานาชาติ ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อไป

 
 
 
 
 


                  นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ ได้บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา ๑๒ ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๐ วรรค ๑ ได้บัญญัติไว้ว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นอกจากนี้รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุนใน ๕ รายการ ดังนี้ ๑) ค่าจัดการเรียนการสอน ๒) ค่าหนังสือเรียน ๓) ค่าเครื่องแบบนักเรียน ๔) ค่าอุปกรณ์การเรียน และ ๕) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

 
 
 
 


                 
 ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณโครงการให้โรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ให้เข้าถึงการศึกษามากยิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ สพฐ. ยูนิเซฟประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อสนับสนุนให้มีการดำเนินการสำรวจติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านงบประมาณการศึกษาในประเทศไทยโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยกระบวนการการสำรวจติดตามใช้จ่ายภาครัฐ (PETS) 

 
 
 


                  รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นำเสนอประเด็นข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี ในประเทศไทย และกล่าวตอนหนี่งว่าโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี เริ่มดำเนินการปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครอง เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและเป็นธรรม อย่างน้อย ๑๒ ปีอย่างมีคุณภาพ และไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามรูปแบบการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียน ตามโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และเพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้จ่ายด้านงบประมาณของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบาย การออกแบบโครงการ และการกำกับดูแลจากส่วนกลาง ได้แก่ ปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มให้เป็นสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ปรับปรุงนิยามความยากจน และตัวชี้วัดความยากจน  และปรับวิธีการจัดสรรเพื่อให้ถึงตัวนักเรียนโดยตรง ยกเลิกระบบโควต้า บูรณาการข้อมูลรายชื่อนักเรียนจากทั้ง ๓ ระบบโรงเรียน  เพื่อลดปัญหารายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน การใช้งบประมาณของโครงการฯ ที่มากเกินความจำเป็น และลดโอกาสการรั่วไหลของเงินงบประมาณแผ่นดิน ข้อเสนอเชิงนโยบายการปรับปรุงการดำเนินการ ส่วนกลาง และโรงเรียน ได้แก่ ปรับปรุงวิธีการดำเนินการคัดกรอง ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลระบบการช่วยเหลือนักเรียนยากจน ปรับปรุงระบบการเคลื่อนย้ายทรัพยากร (กำหนดปฏิทินการจัดสรร คู่มือการใช้สำหรับโรงเรียน เพื่อให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายได้) ปรับปรุงระบบบัญชีโรงเรียน ความสามารถทางการเงิน มาตรฐานกลางการจัดเก็บที่จำเป็น อบรม และจัดทำคู่มือแนวทางการใช้เงินให้กับสถานศึกษา ข้อเสนอเชิงนโยบายระบบธรรมาภิบาล และประเด็นเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ยกระดับบทบาทและความรับผิดชอบในการกำกับดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพิ่มความโปร่งใสของการจ่ายโอนเงินอุดหนุนให้กับครัวเรือน การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีแก่ครอบครัวของนักเรียน และยกระดับความรับผิดชอบในระดับโรงเรียน

 
 
 
 
 
 

                  Mr.Hugh Delaney หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นำเสนอประเด็นข้อเสนอเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา และกล่าวถึงประเด็นเรื่องระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในครอบครัวที่ยากจนและครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบโรงเรียนในประเทศไทย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดช่องว่าง สร้างความเหลื่อมล้ำ ทำให้ความยากจนมากขึ้น ส่งผลให้มีครอบครัวที่ไม่ได้รับการศึกษามีเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำดังกล่าวมีผลต่อคุณภาพของเด็กและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาเกิดจากโรงเรียนและครอบครัวขาดความเข้าใจและการสื่อสารเบื้องต้นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เงินอุดหนุนเด็กยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องแก่ครอบครัวและโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการได้รับเงินอุดหนุนเด็กยากจน เพื่อให้ใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลดปัญหา ความยากจน และสนับสนุนการศึกษาอย่างทั่วถึง

 
 
 
 
                  
                  Dr. Akihiro Fushimi ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นำเสนอประเด็นบทเรียนจากต่างประเทศด้านการพัฒนาการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษา และกล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ทุกประเทศพยายามหาแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ในการจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาหลักที่พบคือ “ปัญหาความเสมอภาคและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา” การจัดทำนโยบายหรือหลักเกณฑ์จะต้องส่งเสริมให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการคำนึงถึง ๓ ประเด็นหลัก คือ สภาพแวดล้อม (Environment) นักเรียน (Student) และโรงเรียน (School) เป็นบริบทที่จะมาเป็นปัจจัยกำหนดนโยบายหรือหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย นอกจากนี้ การสร้างความเท่าเทียม ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน และการสร้างคุณภาพ ด้วยการเปลี่ยนจากทรัพยากรให้กลายเป็นผลลัพธ์ให้ได้ เพื่อให้สามารถใช้เงินอุดหนุนเด็กยากจนอย่างเหมาะสมและเกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ



 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด