สกศ. เดินหน้ารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น

image

 

          วันนี้ (๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐) ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมและนำเสนอ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. … โดยมีวิทยากร ๒ ท่าน คือ นายณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอนุพงศ์ มกรานุรักษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ร่วมเสวนาเกี่ยวกับความต้องการกำลังคนของผู้ประกอบการ และศักยภาพของภาคการศึกษาในการตอบสนองกำลังคนของผู้ประกอบการ ณ ห้องประชุมบริรักษ์ ๒ โรงแรมวีวิช จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้บริหาร ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ฯลฯ เข้าร่วมประชุมกว่า ๑๐๐ คน 


          ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การยกร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ... มีการพัฒนาปรับปรุง กำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกับบริบทในประเทศและต่างประเทศ  ซึ่งในการดำเนินการสิ่งที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมจำเป็นต้องปรับ ๓ เรื่อง คือ ๑) ปรับการบริหาร การรวมศูนย์อาจยังไม่ตอบโจทย์ เพราะแต่ละจังหวัดมีบริบทที่ต่างกัน ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่แตกต่าง จึงควรกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดมีส่วนในการผลิตคนของตน ๒) ปรับการเรียนการสอน เนื่องจากปัจจุบันเด็กสามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง หน้าที่ของครูจึงควรเป็นผู้กล่อมเกลาจิตวิญญาณของเด็ก และ ๓) การสนับสนุนการศึกษา ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สังคม ล้วนมีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษา สำหรับวิธีที่จะปรับเปลี่ยน ทำได้โดย ๑) เปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการปฏิรูป ๒) เปลี่ยนวิธีการทำงานแบบเดิม และ ๓) เปลี่ยนกรอบความคิด ความเชื่อเดิม (mind set) 

          สำหรับ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ ประกอบด้วย ๔ ด้าน คือ มาตรฐานที่ ๑ ผู้เรียนตลอดชีวิต  ๑.๑ คนไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์สังเคราะห์คิด เชิงวิพากย์ คิดอย่างมีวิจารณาญาณและรู้เท่าทันสื่อ ๑.๒ คนไทยมีทักษะความรู้ในศาสตร์เฉพาะและรู้รอบศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ๑.๓ คนไทยมีทักษะการเรียนรู้ค้นคว้าความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้ ๑.๔ คนไทยมีทักษะสามารถสื่อสาร อ่านเขียนได้ มากกว่า ๒ ภาษา มาตรฐานที่ ๒ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ๒.๑ คนไทยมีภาวะผู้นำคิดริเริ่มสร้างสรรค์สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ได้เอง ๒.๒ คนไทยเป็นผู้ที่มีทักษะการทำงานเป็นทีมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ๒.๓ คนไทยมีทักษะการเรียนรู้ในอาชีพและมีความ เป็นผู้ประกอบการสามารถประกอบอาชีพได้
          มาตรฐานที่ ๓ ผู้มีทักษะทางสังคมและการดำรงชีวิต ๓.๑ คนไทยมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีมีพัฒนาการด้านร่างกายจิตใจสติปัญญาเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ตามเกณฑ์การพัฒนาแต่ละช่วงวัย ๓.๒ คนไทยเป็นผู้มีทักษะการรับรู้ สามารถแยกแยะในสิ่งผิดสิ่งถูกได้ เชื่อมั่น และรู้คุณค่าในตนเอง ๓.๓ คนไทยมีทักษะการคิดเข้าใจและยอมรับในพหุวัฒนธรรมร่วมแก้ปัญหาอย่างสรรค์และถูกวิธี ๓.๔ คนไทยมีทักษะสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีพว่าตามหลักปรัชญาของเศรฐกิจพอเพียง มาตรฐานที่ ๔ ผู้มีความเป็นพลเมือง ๔.๑ คนไทยเป็นผู้ความภูมิใจในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และมีจิตสำนึกในเกียรติภูมิของความเป็นไทย ๔.๒ คนไทยเป็นผู้มีวินัยคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสาธารณะ มีส่วนร่วม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก ๔.๓ คนไทยมีจิตสํานึกในการใช้ ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม พอเพียงและเกิดประโยชน์สูงสุด ๔.๔ คนไทยมีความรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ของตนเองครอบครัว ชุมชน สังคม ส่วนรวม และประเทศชาติ

          นายณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม  กล่าวโดยสรุปว่าในปัจจุบันยังมีอีกหลายอาชีพที่ขาดแคลนกำลังคนโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ หรือภาคบริการที่ไทยทำได้ดี แต่ปัจจุบันก็ยังขาดแคลนคน ความต้องการมีมากแต่ผลิตได้น้อย เพราะเด็กส่วนหนึ่งหายไปเรียนปริญญาตรี และเด็กไทยไม่ชอบงานลำบาก จึงต้องใช้แรงงานต่างชาติมาแทนที่  การจะทำให้เด็กสนใจเรียนอาชีวะต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กมาเรียน  ไทยไม่ได้ขาดเด็กเก่ง แต่ขาดโอกาส เด็กไม่รู้ว่าจะไปช่องทางไหนดี  ต้องแนะนำให้นักเรียน สิ่งที่ต้องปรับ คือ ๑) ค่านิยมของพ่อแม่  ๒) ต้องผลิตแรงงานที่มีประสิทธิภาพขั้นสูง สะเต็มมีความสำคัญอย่างสูงในอนาคต ควรพัฒนาด้านนี้ให้มากขึ้น ผู้บริหารเป็นต้องเป็นต้นแบบที่ดี ๓)สถาบันการศึกษา ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และให้ความสำคัญเรื่องภาษา เด็กต่างประเทศสามารถพูดได้หลายภาษา  หัวใจสำคัญ คือ เด็กควรมีพื้นฐานที่ดีและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำหรับกำลังคนที่ผู้ประกอบการต้องการ ประกอบด้วยคุณลักษณะ 7 S คือ ๑.Skill  ๒.Specialist ๓.Smart ต้องปรับกระบวนความคิดใหม่ ต่อยอดเป็นผู้บริหารได้ นอกจากเชี่ยวชาญในงานของตนแล้ว ต้องพัฒนาคุณสมบัติของตนให้เป็นผู้บริหารได้ ๔.Systemic thinking ๕.Social media ๖.Stem และ ๗.Service mind โดยเฉพาะข้อ ๗ เป็นคุณสมบัติเด่นของไทย ที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่น
          อนุพงศ์ มกรานุรักษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ กล่าวโดยสรุปว่า  เมื่อก่อนสถานประกอบและสถานศึกษามีคนต้องการมาทำงานและมาเรียนมาก จึงไม่มีปัญหาขาดแคลน แต่ปัจจุบันวัยแรงงานน้อย แรงงานผลิตไม่ตรงความต้องการ  ทำให้เกิดความขาดแคลน  ด้านสถานศึกษาปัจจุบันก็มีมากกว่าจำนวนนักเรียน  นักเรียนจึงเลือกสถานศึกษาได้  มีหลายคนที่เลือกเรียนสถานศึกษาหรือสาขาที่จบการศึกษาได้ง่าย เมื่อจบแล้วก็ตกงานเพราะไม่ตรงความต้องการ สำหรับอาชีวะเอกชน ปัญหาคือมักเป็นตัวเลือกท้ายๆ ของผู้เรียน หรือผู้ไม่อยากเรียน  รวมถึงความรู้ของผู้เรียนบางคนมีความรู้ระดับประถม อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เด็กอยากเรียน และจบมาแล้วมีคุณภาพ   วิธีการที่อาชีวะผมใช้ คือ มุ่งเน้นสร้างความเป็นนักวิชาชีพ  สร้างให้เป็นผู้ปฏิบัติ สร้างแรงบันดาลใจในอาชีพ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กว่าเด็กจบการศึกษา สิ่งที่เรียนอาจล่าสมัยแล้ว ดังนั้นเด็กจึงต้องรู้จัก  เรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง   และ ใช้การเรียนการสอนแบบทวิภาคี   มี "อีสานโมเดล" ใช้วิธี  ๓+๑ +๑ คือ เรียน ๓ ปี  ไปฝึกงานในสถานประกอบการ ๑ ปี และกลับมาเรียนอีก ๑ ปี  การเรียนแบบนี้เด็กจะมีพื้นฐานที่จำเป็นก่อนไปฝึกงาน เเละเมื่อฝึกงานก็ฝึกได้เต็มเวลา เหมือนการปฏิบัติงานจริง ผู้ฝึกก็สามารถมอบหมายงานได้เต็มที่ และเมื่อกลับมาเรียนอีก ๑ ปี ก็มีประสบการณ์ เข้าใจในเรื่องการทำงานจริง  ส่วนการสอนเใช้หลัก ครูรักเด็ก  เด็กรักครู  เมื่อครูสามารถเป็นไอดอลของเด็ก  ครูรักเด็ก  เด็กก็จะรักครู และจะเรียนรู้ได้ดี

          ในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ ผู้บริหาร (ผู้บริหารศึกษาธิการจังหวัด/เขตพื้นที่/สถานศึกษา) กลุ่มที่ ๒ ศึกษานิเทศก์/ครู และกลุ่มที่ ๓ ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนจังหวัด/นักวิชาการ/สถานประกอบการ/สภาอุตสาหกรรมฯ/สภาหอการค้า/สกอ./สอศ. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติให้มีความสมบูรณ์

กลุ่มที่ ๑

 

กลุ่มที่ ๒

 

กลุ่มที่ ๓

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด