สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น การพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

image

 


          สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น การพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ วันศุกร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. นายกวิน เสือสกุล   ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้ดำเนินรายการ                        สวัสดีครับ รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา เช้าวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายกวิน  เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามาร่วมพูดคุยประเด็น “การพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ” คำถามแรก ทราบมาว่า ในวันอังคารที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดการเสวนา OEC Forum ครั้งที่ ๑๙ มีประเด็นอะไรครับ
       
 ผอ.สวพ.     จะเป็นประเด็นการเสวนา เรื่อง “ผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ” ส่วนประเด็นที่นำมาจะอยู่ในกระแสและเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรวมทั้งมีความเกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พยายามจะนำข้อมูลมาให้ได้รับทราบ รับรู้ และถ้าหากใครมีมุมมอง หรือข้อคิดเห็น สามารถนำมาให้ข้อเสนอแนะ เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากการเสวนาในแต่ละครั้ง ทางสภาการศึกษาจะนำมาจัดทำแผนการและนโยบายการศึกษาของชาติต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ      ในเรื่องการพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ต้องเรียนว่าเป็นเรื่องสำคัญ และถูกบรรจุไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติด้วยใช่ไหมครับ ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมกันครั้งนี้มีใครบ้าง และท่านได้ให้สาระความสำคัญและมุมมองอย่างไรบ้างครับ
       
ผอ.สวพ.     ในการเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ทางด้านเด็กผู้ที่มีความสามารถพิเศษ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๕- ๑๐ ปี อาทิ ๑) ดร.ธงชัย ซิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ อดีตดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ๒) ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๓) ดร.กานจุลี ปัญญาอินทร์ นักวิชการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยทั้ง ๓ ท่าน เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ ในวันเสวนาได้มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้พวกเราได้รับทราบ 
     
ในเรื่อง เด็กผู้ที่มีความสามารถพิเศษ บางทีอาจมีข้อสงสัย หรืออาจมีคำถามจากผู้ฟัง คำว่า เด็กผู้ที่มีความสามารถพิเศษ มีความแตกต่างจาก เด็กปกติ เด็กด้อยโอกาส หรือว่ามีความเหมือนกันอย่างไร ในปัจจุบันทุกประเทศมีมานานแล้ว ทุกคนให้ความสำคัญและส่งเสริม สนับสนุนกับเด็กกลุ่มนี้ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้สามารถแสดงออกในเรื่องความสามารถ รวมทั้งมีความโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งออกมา หรือ ในเด็กคนเดียวอาจจะมีความโดดเด่นในหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์  เด็กบางคนมีความคิดสร้างสรรค์ และในเรื่องของการใช้ภาษา หรือเรื่องของการเป็นผู้นำในวัยเดียวกัน บางทีเราสามารถมองเห็นว่า เด็กคนนี้นั้นมีความแตกต่างออกไป ในเรื่องของการสร้างงาน อาทิ ด้านศิลปะ ด้านการแสดงด้านดนตรี ด้านกีฬา ร่วมถึงทางด้านวิชาการ อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ เด็กพวกนี้จะมีความสามารถพิเศษและโดดเด่น  ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุระดับเดียวกันและในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เด็กผู้ที่มีความสามารถพิเศษ จะโดดเด่นเหนือกว่าค่อนข้างชัดเจน เพราะผู้ฟังอาจเคยได้ยินว่า เด็กผู้ที่มีความารถพิเศษนั้นอยู่ในระดับประถมศึกษา แต่เด็กเหล่านี้อาจมีความสามารถทางด้านดนตรี ทางด้านศิลปะ หรือทางด้านกีฬา หรือแม้ทางด้านภาษา ซึ่งอาจจะเทียบเท่ากับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก 

ซึ่งถ้าถามว่า วันนี้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน  โดยความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาตลอด เพื่อที่สามารถพัฒนาการและรองรับเด็กกลุ่มนี้ ความจริงแล้วแต่ละนโยบายแต่ละรัฐบาลแต่ละยุค ได้ให้ความสำคัญตรงนี้และมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ ถ้าเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา และ ณ วันนี้ดีขึ้นมาก ก่อนหน้านี้ เด็กเหล่านี้ค่อนข้างจะมีปัญหา เช่น เด็กพวกนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญมักเท่าไร ก็เลยดูเหมือนละเลย เนื่องจากมาเน้นเด็กที่อยู่ในระบบภายในโรงเรียนมากกว่า
       
ผู้ดำเนินรายการ      แนวทางพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ เรามีรูปแบบ ข้อคิด แนวทางในการพัฒนาอย่างไรบ้างครับ ในการประชุมครั้งนี้มีการให้ข้อคิดอย่างไรบ้างครับ
       
ผอ.สวพ.     ณ วันนี้โรงเรียนที่มีจัดการเรียนการสอนให้เด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ มีจำนวนโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีความเจริญ ในวันนี้ทั่วประเทศจะมีการรองรับเด็กผู้มีความพิเศษกลุ่มนี้ด้วย ตามแต่ละโรงเรียนที่สามารถจะรับได้
      เด็กเหล่านี้อาจต้องใช้โปรแกรมหรือหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีความเฉพาะและมีความแตกต่างกับเด็กทั่วไป บางครั้งจำเป็นต้องนำเอาโปรแกรมที่มีความสอดคล้องและตรงกับความต้องการของเด็กมากที่สุดเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง และสามารถให้เด็กเรียนรู้ในระบบของโรงเรียนได้เพื่อไม่เป็นปัญหาสำหรับตัวเด็กเหมือนในอดีตที่ผ่านมา  แม้แต่เรื่องของครูที่ทำหน้าที่สอน บางครั้งครูก็ตามเด็กไม่ทัน เนื่องจาก บางทีเด็กมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น ครูจึงต้องรองรับส่วนนี้ให้ได้เพื่อจะได้จัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ปัจจุบันครูมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเพียงพอต่อการรองรับเด็กกลุ่มนี้ได้
       
ผู้ดำเนินรายการ     ทราบมาว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จะมีเรื่องของการที่จะมีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ นาน ๆ และเด็กกลุ่มนี้จะมีการเบื่อง่ายและลืมเวลากับกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันของโรงเรียนในเรื่องพวกนี้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเค้ามีการพูดคุยในเรื่องนี้กันบ้างหรือเปล่าครับ
       
ผอ.สวพ.     ช่วงหลัง ไม่มีการพูดคุยกัน เพราะปัจจุบันครูทำหน้าที่สอน ครูค่อนข้างจะมีการเตรียมความพร้อมมากขึ้น แต่ในอดีตเราคงปฏิเสธไม่ได้เพราะว่า บางทีความพร้อมในเรื่องการศึกษายังไม่เพียงพอ จึงเกิดปัญหาด้านนี้ขึ้น เนื่องจากมีโปรแกรมและหลักสูตรที่รองรับโดยเฉพาะ ครูจึงสามารถนำมาจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับตามศักยภาพของเด็กแต่ละคนได้ 
       
ผู้ดำเนินรายการ     ข้อแนะนำของเหล่าบรรดาวิทยากร อย่างเช่น ดร.ธงชัย ซิวปรีชา ท่านได้ให้คำแนะนำหรือมุมมองพิเศษอย่างไรบ้างครับ
       
 ผอ.สวพ.     ดร.ธงชัย ซิงปรีชา มีประสบการณ์มาแล้ว ๕- ๑๐ ปี ท่านจะมองตั้งแต่ในอดีตว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างไร และพอถึง ณ วันนี้ เด็กกลุ่มนี้ได้รับการตอบรับและมีการรองรับมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าในวันนั้นท่านได้พูดถึง อดีตตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติตั้งแต่ปี ๔๒ มาตรา ๑๐ ได้มีการกำหนดจะต้องมีการจัดการศึกษาให้กับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และต้องจัดในรูปแบบที่เหมาะสมความสามารถของบุคคลนั้น ซึ่งอย่างน้อย พ.ร.บ.หรือ กฎหมาย มีการกำหนดไว้แล้ว นอกจากมาตรา ๑๐ และมีมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๘ โดยมีทั้งเรื่องของหลักสูตร เรื่องการจัดการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ที่รองรับเด็กผู้ที่มีความสามารถพิเศษ และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ 
      เด็กในกลุ่มนี้มีจำนวนร้อยละ ๓ ในแต่ละสาขาที่มีความโดดเด่นและเป็นเด็กผู้มีความสามารพิเศษ ขึ้นมา ณ วันนี้ที่ประเทศไทย นอกจากเรื่อง พ.ร.บ.ที่มีการกำหนดเด็กผู้มีความสามารถพิเศษแม้แต่เรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำขึ้นได้มีการกำหนดยุทธศาสตที่ ๓ คือ กำหนดเรื่องการพัฒนาศักยภาพบุคคลคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมเพื่อการเรียนรู้ เพื่อที่นำมารองรับเด็กแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพความสามารถของแต่ละคน ตามความถนัดและความต้องการ ความสนใจ ร่วมถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษกลุ่มนี้ด้วย  
       
ผู้ดำเนินรายการ     มีการศึกษาหรือนำองค์ความรู้จากประเทศอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ตรงนี้มาเป็นตัวอย่างหรือไม่อย่างไร
       
ผอ.สวพ.     มีครับ ในการเสวนา ดร.กานจุลี ปัญญาอินทร์ ก่อนหน้านี้ท่านมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศรัสเซีย คือ ประเทศรัสเซียได้มีการจัดซื้อโรงแรมเพื่อจัดมารองรับให้กับเด็กกลุ่มนี้ มาพัฒนา และเรียนรู้ พร้อมทั้งเชิญวิทยากรและเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาอยู่ตรงนี้ ซึ่งประเทศรัสเซียได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้พอสมควร โดยเฉพาะประเทศทางยุโรปหรือประเทศอเมริกา ซึ่งประเทศไทยอาจจะยังทำเหมือนประเทศรัสเซียไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยประเทศไทยก็เห็นว่า ประเทศรัสเซียได้มีการจัดการเรียนการสอน หรือวิธีการ ประเทศไทยนั้นเพิ่งจะเริ่มต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยทางด้านงบประมาณ และปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง ดังนั้นเราควรนำข้อมูลนี้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมานั้น ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการจัดทำโครงการนำร่องขึ้น คือ โครงการค่ายบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ด้านกีฬา ด้านดนตรี และด้านศิลปะ Talented Science Sport Music and Art Youth Camp หรือ ทีซ่า ยูธ แคมป์ (TSA Youth Camp)  และทาง สกศ. ได้คัดเลือกจากเด็กภูมิภาค  เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กในเมือง ชนบท ให้เด็กเข้ามาเรียนรู้อยู่ในกรุงเทพ ฯ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ประสานกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อนำเด็กผู้มีความสามารถพิเศษมาเข้าค่ายและเรียนรู้ร่วมกันทั้ง ๓ ด้าน มาบูรณาการให้เด็กได้เห็นมิติของเด็กทางด้านอื่นๆ อย่างหลากหลาย เพราะถ้าฉันมีความรู้ทางด้านวิชาวิทย์-คณิต และฉันจะไม่มองทางด้านศิลปะ และทางด้านดนตรี แต่ถ้าเด็กเข้ามาอยู่ในค่ายนี้ ที่ทาง สกศ. จัดขึ้น เด็กจะมีส่วนร่วมและเห็นมิติของศิลปะและดนตรี นอกจากนี้เด็กที่เล่นดนตรีก็จะเห็นทางด้านวิทย์-คณิต ผลการจัดโครงการนำร่องดังกล่าวสรุปว่า ค่ายนี้ค่อนข้างจะประสบผลสำเร็จ
       
ผู้ดำเนินรายการ     ท่านผู้อำนวยการจะมีคำแนะนำให้สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นเด็กผู้มีความสามารถพิเศษอย่างไรบ้างครับ
       
ผอ.สวพ.     ต้องการให้ผู้ปกครองและแม้แต่ตัวเด็กเอง ถือว่า แผนการศึกษาแห่งชาติในปัจจุบันได้มีการกำหนดและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเด็กในกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก อาทิ ความพร้อมของโรงเรียน ความพร้อมของครู หลักสูตรหรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่จะรองรับน้อง ๆ ตรงนี้ค่อนข้างจะมีความพร้อม จึงคิดว่า ผู้ปกครองสามารถไม่ควรเป็นห่วง และสามารถส่งเด็กเข้ามาเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ ได้
       
ผู้ดำเนินรายการ     ฟังดูแล้วเหมือนจะพร้อมทุกอย่าง ในเรื่องทั้งการส่งเสริมหลักสูตร การขยายหลักสูตร การเพิ่มกิจกรรม การที่จะมีครูมาเป็นโค้ชชิ่งแนะแนวต่าง ๆ จากนี้ไป สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการสรุปผลการประชุมกลุ่มหรือข้อเสนอแนะ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไปไหมครับ
       
ผอ.สวพ.     ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีการเปิดรับข้อคิดเห็นที่ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่เกี่ยวข้องส่งเข้ามา และทาง สกศ. จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงการที่เราได้มีการจัดค่ายก่อนหน้านี้ หลายประเด็นที่เราได้เห็น และได้รับรู้จากผลสะท้อนต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เราได้ทราบทั้งจากการศึกษาที่โรงเรียน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราดำเนินการจัดขึ้น รวมทั้งจากข้อคิดเห็นและและข้อเสนอแนะของผู้ปกครอง หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ครู โรงเรียนต่าง ๆ ที่ต้องการปรับหรือมีการเพิ่มข้อมูลเหล่านี้ ทางสภาการศึกษาจะดำเนินการรวบรวมและจัดทำเป็นนโยบายเพื่อจัดทำนำเสนอเพื่อการพัฒนาการศึกษาต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ     ถ้าหากมีความคืบหน้าอยากจะรบกวนท่านอีกครั้ง ในวันนี้ขอขอบพระคุณนายกวิน  เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 
       
       
       
       

 ................................................................................................

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด