สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น บทบาทการศึกษาเอกชนนอกระบบกับการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง บทบาทการศึกษาเอกชนนอกระบบกับการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐ วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้ดำเนินรายการ:     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจากนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “บทบาทการศึกษาเอกชนนอกระบบกับการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐” ก่อนอื่นขอเรียนถามถึงการประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum มีหัวข้อในการประชุมเรื่องอะไร มีความเป็นมาอย่างไร
       
ผอ. สกม.:     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำเนินการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum อย่างต่อเนื่องเดือนละ ๑ ครั้ง โดยนำประเด็นที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือแก้ปัญหาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการศึกษา นโยบายอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับรัฐบาล สำหรับสภาการศึกษาเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๘ ในเรื่อง “บทบาทการศึกษาเอกชนนอกระบบกับการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐” ความเดิมจากนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดนโยบายที่จะปรับโครงสร้างของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ โดยเน้นการปรับปรุงอุตสาหกรรมหลัก ๕ อุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า New S - Curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) 
       
      ในส่วนกระบวนการจัดการศึกษาดังกล่าว ควรทบทวนว่า สิ่งที่มีอยู่แล้วจะกลับไปสู่สิ่งที่เป็น New      S – Curve ได้อย่างไร การจัดการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา 
       
      แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ที่สำนักงานเลขธิการสภาการศึกษาจัดทำขึ้น เป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี วิสัยทัศน์ของแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนดว่า คนไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งในแผนการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การนำภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณเพื่อจัดการศึกษามากเกินไป ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการจัดสภาการศึกษาเสวนาในครั้งนี้
       
      การศึกษาเอกชนนอกระบบเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่า ประเภทลักษณะของโรงเรียน และการจัดการเรียนหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ ดังนี้ ๑) ประเภทสอนศาสนา เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะการสอนศาสนา ๒) ประเภทศิลปะและกีฬา เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาเกี่ยวกับดนตรี ศิลปะ และกีฬา ๓) ประเภทวิชาชีพ เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีพ เพื่อให้นักเรียนนำไปประกอบอาชีพหรือเพิ่มเติมทักษะในการประกอบอาชีพ ๔) ประเภทกวดวิชา เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เสริมความรู้บางรายวิชา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน    ๕) ประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เสริมสร้างความคิด เชาวน์ปัญญา และทักษะอื่น ๖) ประเภทศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เป็นศูนย์การศึกษาที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และ ๗) ประเภทสถาบันศึกษาปอเนาะ เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นให้เป็นทางเลือกหนึ่งของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ”
       
ผู้ดำเนินรายการ:     วิทยากรที่เข้าร่วมอภิปรายในสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ครั้งที่ ๑๘ นี้ มีใครบ้าง สาระสำคัญหรือมุมมองที่น่าสนใจเป็นอย่างไร
       
ผอ. สกม.:     การจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ได้รับเกียรติจาก ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นประธานเปิดการประชุม วิทยากรที่เข้าร่วมอภิปรายในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับวงการการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบ คือ
       
      ดร. พะโยม  ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวถึง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับผิดชอบการศึกษาเอกชน ซึ่งมี ๒ ระบบ ได้แก่ ๑) โรงเรียนในระบบ ได้แก่ ๑.๑) สามัญศึกษา และ ๑.๒) นานาชาติ และ ๒) โรงเรียนนอกระบบ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสถิติและจำนวนของโรงเรียนประเภทต่าง ๆ เช่น โรงเรียนนอกระบบประเภทศิลปะและกีฬา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรวิชากีตาร์ เปียโน ขิม ไวโอลิน ดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ ศิลปะ มวยไทย เทควันโด ว่ายน้ำ ยูโด คาราเต้ ฯลฯ มีจำนวนทั้งหมด ๕๗๓ โรงเรียน โรงเรียนนอกระบบประเภทวิชาชีพ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีพให้นักเรียนนำไปประกอบอาชีพหรือเพิ่มเติมทักษะในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม ด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว ฯลฯ มีจำนวนทั้งหมด ๒,๖๘๙ โรงเรียน โรงเรียนนอกระบบประเภทกวดวิชา จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมความรู้บางรายวิชาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีจำนวนทั้งหมด ๒,๖๒๙ โรงเรียน โรงเรียนนอกระบบประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความคิด เชาวน์ปัญญา และทักษะอื่น ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรวิชาภาษาจีนสำหรับเด็ก และภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก และหลักสูตรที่โรงเรียนจัดทำขึ้นเอง มีจำนวนทั้งหมด ๔๗ โรงเรียน เป็นต้น ซึ่ง สช. รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานหลักสูตร
       
      นายพรชัย  พิศาลสิษฐ์กุล  นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวถึงแนวนโยบาย แนวคิด มุมมอง ของสมาคมเป็นอย่างไร เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการต่อยอดต่อไป 
       
      นายกงกฤช หิรัฐกิจ ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหารโรงเรียนการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวนานาชาติ กล่าวถึงแง่คิด มุมมอง ในส่วนของธุรกิจ และภาครวมของการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบว่า มีความสำคัญ และจำเป็นมากน้อย แค่ไหน อย่างไร สิ่งที่ขาดไปคือ ต้องการให้รัฐบาลปรับแก้ และเพิ่มเติมให้ดีขึ้น
       
      นางสุทธิ์สมร  แสงสุรศักดิ์ชัย ผู้บริหารโรงเรียนสอนขับรถยนต์ ID DRIVER จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการบริการด้านการศึกษาซึ่งเป็นการศึกษานอกระบบจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจ
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ในการพัฒนาไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ในอนาคตจะต้องมีการปรับหลักสูตรหรือไม่
       
ผอ. สกม.:     เมื่อประกาศเป็นประเทศไทย ๔.๐ ข้อดีของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ โรงเรียนจะมีการปรับตัวให้รวดเร็วขึ้น สิ่งที่เอกชนทำได้คือ เอกชนสามารถปรับได้เลย โดยมีการพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่ก้าวไปสู่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงของโลก เช่น โรงเรียนสอนขับรถยนต์ ID DRIVER จังหวัดขอนแก่น  นอกจากจะสอนขับรถทั่วไป จะมีการสอนเรื่องภาษาสำหรับคนขับเท็กซี่ที่ต้องการพัฒนาเพิ่มเติม การสอนคนขับรถหัวลาก รถหัวลากไม่ได้ลากเฉพาะประเทศไทย จะผ่านประเทศต่าง ๆ เช่น ลาว กัมพูชา ฯลฯ สิ่งที่จำเป็นต้องรู้นอกจากเรื่องภาษาแล้ว จะต้องมีความรู้เรื่องกฎระเบียบของแต่ละประเทศ ดังนั้นการศึกษาเอกชนต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ในการศึกษาเอกชนระบบนอกระบบต้องมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ หลังจากที่ได้ข้อคิดเห็น และคำแนะนำต่าง ๆ แล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
       
ผอ. สกม.:     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการกำหนดการศึกษานอกระบบโดยจะพิจารณาให้ครบทุกช่วงวัย สิ่งสำคัญคือ ในช่วงวัยแรงงานจะต้องมีการพัฒนาวิชาชีพไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และเป็นมาตรฐานสากล มีความเป็นเลิศมากขึ้น ดังนั้น จึงควรพัฒนาตนเองโดยไม่กระทบกับงานที่ทำอยู่ เช่น การเรียนเสริมโดยใช้ระบบสะสมหน่วยกิจ และสามารถนำมาปรับวุฒิการศึกษาได้ หรือการเชื่อมไปยังกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดระดับคุณวุฒิวิชาชีพที่กำหนด โดยระดับสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านอื่น เช่น มีการผลิตและมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น มีการพัฒนาการสื่อสาร เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง พัฒนาสเต็มศึกษา การวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย เพื่อช่วยกันตอบโจทย์ในการกำหนดระบบการศึกษาว่า ควรจะเป็นอย่างไร    ในส่วนของผู้ประกอบการ สิ่งที่ต้องการคือ รัฐควรปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะพัฒนาองค์กรได้รวดเร็ว และรัฐจะทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้ 
       
      สำหรับการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ประเด็น “การพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ” ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามารับฟังการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา” หรือสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.onec.go.th
       
ผู้ดำเนินรายการ:     วันนี้ ขอขอบพระคุณ นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ความรู้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับฟังรายการ วันนี้ขอขอบพระคุณและสวัสดีครับ
       
      ...................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด