สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สภาการศึกษาสรรหาและเลือกกรรมการสภาการศึกษา

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง สภาการศึกษาสรรหาและเลือกกรรมการสภาการศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้ดำเนินรายการ:     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “สภาการศึกษาสรรหาและเลือกกรรมการสภาการศึกษา” ใคร่ขอเรียนถามท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษาถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานดังกล่าว และบทบาทหน้าที่ของกรรมการสภาการศึกษาเป็นอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ โดยกำหนดให้มีองค์กรหลัก ๕ องค์กรหลัก ซึ่งแต่ละองค์กรหลักมีการบริหารงานโดยองค์คณะบุคคล ที่เรียกว่า คณะกรรมการ 

       
      สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นองค์กรหลักหนึ่งในห้าของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นคณะบุคคลในรูปคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งคณะกรรมการสภาการศึกษา ได้รับการแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ และครบวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙ ดั้งนั้น สกศ. จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสรรหา เลือก และแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวขึ้นมา 
       
      จากกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหา การเลือกกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ กำหนดให้คณะกรรมการสภาการศึกษา มีกรรมการจำนวน ๔๑ คน ประกอบด้วย 
       
      ๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ 
       
      ๒) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน ๑๑ คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน  ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
       
      ๓) กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน จำนวน ๑ คน 
       
      ๔) กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๑ คน 
       
      ๕) กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ จำนวน ๑ คน  
       
      ๖) กรรมการที่เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ จำนวน ๒ รูป 
       
      ๗) กรรมการที่เป็นผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน ๑ คน 
       
      ๘) กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่น จำนวน ๑ คน 
       
      ๙) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๒๑ คน ซึ่งแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูง ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย ด้านศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ด้านการกีฬา กิจการเยาวชน  ลูกเสือ ยุวกาชาด และเนตรนารี ด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา และการวัดและประเมินผลการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และการบริการ ด้านพัฒนาสังคมและสิทธิมนุษยชน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร ด้านสื่อมวลชน ด้านการเมืองการปกครอง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านส่งเสริมการป้องกัน และการปราบปรามการทุจริต หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกัน 
       
      ๑๐) เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ผู้สนใจสมัครเป็นกรรมการสภาการศึกษาต้องมีคุณสมบัติอย่างไร หลักเกณฑ์ การสรรหา และการเลือกกรรมการสภาการศึกษาเป็นอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     การสรรหาและการเลือกกรรมการ มีหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ 
       
      ๑) กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ให้องค์กรเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษา โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปี สภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษา โดยมีโรงเรียนในสังกัด และองค์กรวิชาชีพแต่ละแห่ง เสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรเป็นกรรมการซึ่งมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น แห่งละ ๑ คน จากนั้นให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเลือกกันเอง ทั้งนี้ ในการเสนอชื่อและการเลือกกันเอง ให้องค์กรแต่ละประเภทแยกกันดำเนินการ 
       
      ๒) กรรมการที่เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ ให้กระทำโดยการเสนอชื่อของมหาเถรสมาคม จำนวน ๒ รูป
       
      ๓) กรรมการที่เป็นผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ให้กระทำโดยการเสนอชื่อของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน ๑ คน
       
      ๔) กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่น ให้กระทำโดยการเสนอชื่อขององค์กรศาสนาคริสต์ องค์กรศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และองค์กรศาสนาซิกข์ ร่วมกันเสนอชื่อจำนวน ๑ คน 
       
      ๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา สรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงในด้านต่าง ๆ และมีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จำนวน ๔๒ คน เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาเลือกให้เหลือจำนวน ๒๑ คน
       
      เมื่อดำเนินการสรรหาและเลือกเสร็จสิ้นแล้ว จะนำรายชื่อผู้ได้รับเลือกเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาการศึกษาต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ:     บทบาท หน้าที่ของคณะกรรมการสภาการศึกษาเป็นอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     คณะกรรมการสภาการศึกษามีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ ๑) พิจารณาเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติที่บูรณาการ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ ๒) พิจารณาเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ๓) พิจารณาเสนอนโยบาย และแผนในการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา ๔) ดำเนินการประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ๕) ให้ความเห็นหรือคำแนะนำในเรื่องกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการศึกษา
       
      การเสนอนโยบาย แผนการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานการศึกษาให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี นอกจากนั้นให้สภาการศึกษามีหน้าที่ให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย ในกรณีที่สภาการศึกษาเสนอความเห็นหรือคำแนะนำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้รัฐมนตรีฯ นำความเห็นหรือคำแนะนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับการศึกษาของชาติ สภาการศึกษาอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ก็ได้

       
ผู้ดำเนินรายการ:     กำหนดรับสมัครกรรมการสภาการศึกษาถึงเมื่อใด อย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดรับสมัครกรรมการสภาการศึกษา ตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครสามารถติดต่อขอรับใบสมัครได้ที่ ห้องศิษย์เก่า ชั้น ๑ อาคาร ๑  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ หรือดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซด์ www.onec.go.th และ www.moe.go.th
       
      การสมัครให้สมัคร ทำได้ ๒ วิธี ดังนี้
       
      ๑)ยื่นใบสมัครโดยตรงที่ ห้องศิษย์เก่า ชั้น ๑ อาคาร ๑ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐  ภายในวันและเวลาราชการ
๒)ส่งทางไปรษณีย์แบบด่วนพิเศษ (EMS) ไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เลขที่ ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐  และถือวันที่ไปรษณีย์ประทับตราไม่เกินวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ในเวลาราชการ หากเกินกำหนด ใบเสนอชื่อนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณา 
       
     
ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะประกาศรายชื่อผู้สมัครเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ ๑๘  ในวันที่  ๒๒  พฤษภาคม  ๒๕๖๐  ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และทางเว็บไซต์ www.onec.go.th และ www.moe.go.th
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางใด
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ห้องศิษย์เก่า สกศ. ชั้น ๑ อาคาร ๑ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๓ ๗๙๑๔ , ๐ ๒๖๖๘ ๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๓๐ และ ๑๑๓๖ เว็บไซต์ www.onec.go.th
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สุดท้ายนี้ ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษาฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:     ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปการศึกษา กรรมการสภาการศึกษามีบทบาทมาก ดังนั้น ในการคัดเลือกกรรมการสภาการศึกษา จึงต้องการผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา ปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษา ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีความรู้ ความสามารถมาสมัครเป็นกรรมการสภาการศึกษา
       
ผู้ดำเนินรายการ:     วันนี้ต้องขอขอบพระคุณ ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ที่กรุณามาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ถ้ามีความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้จะขอรบกวนท่านอีกครั้ง  

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด