สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ความก้าวหน้าการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐วันศุกร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐๐๘.๔๕ น. โดย ดร. วัฒนาพร  ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้ดำเนินรายการ:     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. วัฒนาพร  ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ความก้าวหน้าการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐” ทราบมาว่าเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ การประชุมครั้งนี้มี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ใคร่ขอเรียนถามท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษาถึงประเด็นสาระสำคัญการประชุมในวันนั้น 
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ โดยมีเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.กมล รอดคล้าย) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ผู้บริหารหน่วยงาน ๕ องค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 

       
       การจัดประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เป็นการจัดประชุมครั้งแรกในปีนี้ ภารกิจของคณะกรรมการสภาการศึกษาต้องมีการประชุมเพื่อรับทราบความก้าวหน้าและประเด็นความคิดเห็นต่าง ๆ โดยคณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ (ร่าง) โดยเฉพาะเชิงกฎหมายทางด้านการศึกษา สำหรับการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ได้แก่ ๑) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ๒) การดำเนินการด้านกฎหมายการศึกษาเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ๓) การพัฒนา ร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติ ๔) ร่าง นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ๕) การพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการพัฒนาการศึกษา ๖) การสังเคราะห์ตัวชี้วัดด้านการศึกษาไทยตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ๗) การจัดทำสถิติการศึกษาของประเทศไทยปีการศึกษา ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ ๘) ข้อสังเกตจากการร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปี ๒๐๑๖ ของสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินสัมฤทธิผลการศึกษา (The International Association for the Evaluation of Educational Achievement: IEA) ๙) ข้อเสนอจาก British Council เรื่องการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) ในประเทศไทย และ ๑๐) ผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติราชการ (มาตร ๔๔) และการประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จพระสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์ เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลก (๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐) 
       
       นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาวาระสำคัญ คือ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. .... ที่ผ่านมาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในหมวด ๖ มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา ๔๗ บัญญัติให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งประกอบด้วยระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ทั้งนี้ ระบบ เกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและได้มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ ปรากฎว่า ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาปัจจุบันมุ่งเน้นที่การตรวจสอบ กลไก และเอกสารประกอบกระบวนการบริหารจัดการการศึกษามากกว่าการตรวจสอบผลลัพธ์ที่ต้องกัน  ก่อให้เกิดภาระงานเกินความจำเป็น ไม่สะท้อนคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง
       
       สำหรับการประกันคุณภาพภายใน หมายความว่า การประเมินผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพและการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายใน โดยผู้บริหารสถานศึกษานั่นเอง และการประกันคุณภาพภายนอก หมายความว่า การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
       
       ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาการประกันคุณภาพการศึกษาในอดีตและปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการเตรียมเอกสาร ซึ่งเป็นภาระกับโรงเรียนและครูผู้สอนเป็นอย่างมาก เพราะต้องกรอกเอกสารจำนวนมาก ทำให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนหรือกับเรื่องอื่น ๆ ค่อนข้างลดความสำคัญลง จึงเป็นประเด็นและข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขการประเมินมากขึ้น 
       
       ส่วนเรื่องผลโอเน็ตที่ออกมาจะเห็นได้ว่าไม่มีการพัฒนา แม้จะมีกระบวนการประเมินการรับรองมากมาย แต่ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพเท่าที่ควร ดังนั้นจึงนำไปสู่ขอปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายกระทรวงให้มีคุณภาพและมีความเหมาะสมมากขึ้น
       
 ผู้ดำเนินรายการ:      ในส่วนของการปรับแก้มีข้อเสนอหรือข้อคิดเห็นที่จะให้มีการปรับแก้อย่างไร

       
 รองเลขาธิการสภาการศึกษา:      การ (ร่าง) ประเด็นการปรับแก้กระบวนการประเมินแบบเดิม เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนหลายส่วน ต่อไปการประเมินแบบใหม่ ซึ่งจากนี้การประเมินโรงเรียนเปลี่ยนมาใช้กรอบทางกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้คิด สามารถนำมาปรับให้เป็นมาตรฐานและเข้ากับสภาพบริบทของโรงเรียน โดยมีการกำหนดเป้าหมายของตนเอง และดำเนินการพัฒนา คุณภาพ และประเมินตนเอง ส่วนบทบาทของหน่วยงานต้นสังกัด คือทำหน้าที่ลงไปช่วยเหลือแนะนำ พยายามไปเสริมให้โรงเรียนทำงานตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ หลังจากนั้นจะรายงานไปที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 

       
 ผู้ดำเนินรายการ:      สถานศึกษาจะประเมินตนเองโดยมีต้นสังกัดให้ความช่วยเหลือ เป็นการประเมินภายใน ส่วนการประเมินภายนอก คือยังคงเป็นหน้าที่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แต่ สมศ. จะทำหน้าที่เพียงแค่ตรวจสอบเหมือนเดิมใช่หรือไม่

       
 รองเลขาธิการสภาการศึกษา:      ใช่ค่ะ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยัน แนะนำ รายงาน โดยทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนให้กระบวนการทุกอย่างมีความชัดเจนและตรงกับสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนมากขึ้น 

       
 
ผู้ดำเนินรายการ:
     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
       
 
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:
     ที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด คือการปรับแก้ร่าง การรับฟังความคิดเห็น ความคิดเห็นของที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วย มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น การประเมินต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมก่อนที่ดำเนินการกำหนด เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ และควรให้มีความเชื่อมโยงการประกันคุณภาพ ส่วนประเด็นการประเมินโอเน็ต กับสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ควรเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะนำมาเพื่อปรับ แก้ไข ให้มีความชัดเจนมากขึ้น  และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและนำมาประกาศเพื่อเป็นกฎกระทรวงต่อไปในอนาคต
       
 ผู้ดำเนินรายการ:      สุดท้ายนี้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษาจะฝากอะไรเพิ่มเติมถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
 รองเลขาธิการสภาการศึกษา:      ช่วงนี้อยู่ในช่วงการปฏิรูปการศึกษา มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาจึงได้นำมาวิเคราะห์ ปรับปรุง แก้ไข ให้มีความชัดเจน และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการขับเคลื่อนมีหลายเรื่อง เช่น การสอบบรรจุครูผู้ช่วย การปรับเปลี่ยนกฎ ระเบียบ เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความคิดเห็นร่วมกันทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำหนดร่วมกัน
       
 ผู้ดำเนินรายการ:      วันนี้ขอขอบพระคุณ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังรายการ
       
       
       
       
       
       
       
       
       

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด