สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในประเทศไทย

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในประเทศไทย วันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร. วัฒนาพร  ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา

 

ผู้ดำเนินรายการ                 :รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. วัฒนาพร  ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา มาพูดถึงประเด็น “การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในประเทศไทย” ก่อนอื่นขอให้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. วัฒนาพร ระงับทุกข์) อธิบายถึงการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมคืออะไร แนวทางหรือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมีความเหมือนหรือแตกต่างจากการจัดการเรียนการสอนโดยทั่วไปอย่างไร

 

รองเลขาธิการสภาการศึกษา:การเรียนการสอนแบบปกติทุกวันนี้จะเป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กทั่วไป และแบ่งแยกเป็นเด็กปกติ เด็กพิการ แต่การศึกษาแบบเรียนรวม หมายความว่าการจัดการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก จัดให้เข้ามาเรียนรวมกันในชั้นเรียน โดยจะพิจารณาวิธีบริหารจัดจัดการในห้องเรียนว่า เด็กพิเศษที่เข้าเรียนรวมกันในชั้นเรียนมีความต้องการพิเศษอย่างไร จึงจัดให้เด็กพิเศษนั้นได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนอย่างนั้น 

 

ผู้ดำเนินรายการ        :รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ และเด็กปกติมีหลักการที่แตกต่างกันอย่างไร

 

รองเลขาธิการสภาการศึกษา:หลักการประการแรก ต้องยอมรับว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างมีหลากหลายด้าน เช่น สติปัญญา ร่างกาย เป็นต้น ถึงแม้จะมีความแตกต่าง แต่เด็กทุกคนต้องได้เข้าเรียน และได้รับการศึกษาพร้อมกัน โรงเรียนต้องมาปรับสภาพแวดล้อมให้สามารถสอนได้ เช่น เด็กพิการใช้รถเข็น (wheelchair) ที่โรงเรียนจะต้องมีทางลาด หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนกับเด็กคนอื่นได้ หลักการคือ โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนโดยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กทุกกลุ่ม

 

ผู้ดำเนินรายการ        :แสดงว่า แต่ละโรงเรียนต้องมีการให้บริการดูแลในเรื่องการอำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือ และดูแลสภาพแวดล้อมของโรงเรียน

รองเลขาธิการสภาการศึกษา:ใช่ค่ะ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องกายภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นอื่น เช่น กระบวนการจัดการเรียนการสอน หรือกิจกรรมในห้องเรียนจะต้องปรับให้เข้ากับเด็กแต่ละคน ให้สามารถเรียนรวมได้ กรณีเด็กตาบอดต้องมีหนังสืออักษรเบรลล์ ซึ่งเป็นอักษรสำหรับคนตาบอด 
                                                เมื่อเด็กออกไปสู่สังคมภายนอก จะไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่กับกลุ่มที่ปกติเหมือนตัวเองหรือไม่ เพราะในสังคมมีคนหลายรูปแบบ เช่น คนพิการ คนด้อยโอกาส และคนปกติ การที่จะอยู่รวมกันอย่างเป็นสุขจะต้องเอื้ออาทรกัน ช่วยเหลือกัน ดังนั้น สภาพแวดล้อมในโรงเรียนจะต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับในสังคมปัจจุบัน ถ้าจะจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ครูต้องได้รับการเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อาจมีการอบรมพิเศษเพิ่มเติม และมีสื่ออุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวก

ผู้ดำเนินรายการ                :มุมมอง สาระสำคัญ และข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม “สภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum)” ครั้งที่ ๑๖ เรื่อง การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในประเทศไทย : จากนโยบายสู่การปฏิบัติ เป็นอย่างไร
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:เนื่องจากแนวทางการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นนโยบายเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพการศึกษา เน้นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการจัดทำขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนการศึกษาแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สกศ. จะได้เร่งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และจัดการศึกษาที่มีความเชื่อมโยงทั้งผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และบุคคลปกติในสถานศึกษาเดียวกัน ไม่แยกส่วนการเรียน 
                                                สำหรับการจัดประชุม “สภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum)” ครั้งที่ ๑๖ เรื่อง การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในประเทศไทย : จากนโยบายสู่การปฏิบัติ สกศ. ได้ร่วมมือทางวิชาการกับบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อเร่งพัฒนานโยบายการศึกษาด้านการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม โดยได้นำผลงานวิจัยมานำเสนอ และรับฟังมุมมอง ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าประชุม ไม่ว่าจะเป็น ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง มุมมองและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น รัฐบาลควรมีมาตรการ กฎหมาย กฎระเบียบที่จริงจังในการส่งเสริมการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เน้นการลงทะเบียน ๑๓ หลัก เอื้อเด็กทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น เด็กพิการ เด็กต่างด้าว เด็กด้อยโอกาส มีการจัดสรรเงินอุดหนุนพิเศษให้เด็กเหล่านนี้ได้รับการศึกษา รวมทั้งให้ค่าตอบแทนกับครูที่จัดการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้ เพราะครูที่สอนต้องทำงานมากกว่าครูทั่วไป 

                                                ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมก้าวหน้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน โรงเรียนหลายแห่งมีการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม นักเรียนได้รับเงินสนับสนุน ครูที่สอนเด็กกลุ่มนี้ถ้ามีจำนวน ๑๒ คนขึ้นไป จะได้เงินค่าตอบแทนพิเศษเป็นรายเดือน ประเด็นที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะให้การศึกษาแบบเรียนรวมขยายผลไปอย่างจริงจัง มีกฎหมายระบุว่า โรงเรียนไม่สามารถที่จะปฏิเสธเด็กที่มาสมัครเรียน และต้องเอื้ออำนวยให้เด็กสามารถเรียนรวมได้ ที่ผ่านมาจะมีเพียงบางโรงเรียนที่รับเด็กมาเรียนรวม แต่ไม่ครบทุกโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ  ดังนั้นจึงต้องเร่งกฎหมายในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ จัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับโรงเรียนที่ต้องรับเด็กเหล่านี้ 
ผู้ดำเนินรายการ                :การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมต้องนำไปบรรจุในแผนการศึกษาเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:ประเด็นนี้ได้บรรจุในแผนการศึกษาแห่งชาติ แต่ต้องดูแลเรื่องกฎหมายที่จะต้องมีข้อความที่เอื้ออำนวยเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำแผนงาน โครงการรองรับ อบรมและพัฒนาครู จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ต้องทำความเข้าใจ ติดตามเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง และสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความเข้าใจ เพราะขณะนี้ในเรื่องการยอมรับว่า ในสังคมต้องมีความแตกต่าง จึงต้องช่วยเหลือกัน ร่วมกันพัฒนาให้ได้ 
ผู้ดำเนินรายการ                :สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. วัฒนาพร ระงับทุกข์) ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
รองเลขาธิการสภาการศึกษา:อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับเด็กทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส และเด็กปกติ จึงต้องสร้างความเข้าใจ ร่วมสนับสนุน ทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้การศึกษาแก่เด็กทุกกลุ่ม ให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข เป็นสิ่งที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ
ผู้ดำเนินรายการ                 : วันนี้ต้องขอบพระคุณ ดร. วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

............................................................................................................................................................ 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด