สรุปประเด็นการสนทนา ความก้าวหน้าแผนการศึกษาแห่งชาติ

image

 

สรุปประเด็นการสนทนา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพนธ์ FM 92.5 MHz ประเด็นเรื่อง ความก้าวหน้าแผนการศึกษาแห่งชาติ วันพุธที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๕.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. โดย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา 

ผู้ดำเนินรายการ:       วันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา สนทนาในประเด็น “ความก้าวหน้าแผนการศึกษาแห่งชาติ” ก่อนอื่นขอเรียนถามท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษาถึงหลักการและแนวคิดของแผนการศึกษาแห่งชาติ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนการศึกษาแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ซึ่งในการดำเนินงานของ สกศ. ได้นำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการจัดทำ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
       
      วิสัยทัศน์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ คือ คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ๒) เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ ๓) เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรมจริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ ๔) เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในของประเทศลดลง
       
      แผนการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา
       
          สิ่งเหล่านี้คือ กรอบแนวคิดในการกำหนดทิศทางของประเทศในเรื่องการจัดการศึกษา
       
ผู้ดำเนินรายการ:      อยากทราบว่า ทำไมแบ่งระยะเวลาการดำเนินงานของแผนการศึกษาออกเป็น ๔ ระยะ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      แผนการศึกษาแห่งชาติได้แบ่งระยะเวลาของการดำเนินงานเพื่อให้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และเป็นการวางเป้าหมายและทิศทางการจัดการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาทราบกันดีว่า นโยบายต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้การพัฒนาเกิดความไม่ต่อเนื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติจึงเป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี มีกฎหมายการศึกษาที่ระบุว่าการดำเนินการต้องทำตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ไม่ให้มีการเปลี่ยนนโยบาย  ซึ่งในแต่ละระยะหรือรายละเอียดอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์  ทุก ๕ ปี จะต้องมีการประเมิน และปรับให้เหมาะสมอยู่เสมอ
       
ผู้ดำเนินรายการ:      ระยะ ๕ ปีแรก ได้วางเป้าหมายไว้อย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      ระยะ ๕ ปีแรก วางเป้าหมายไว้ ดังนี้ การเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นในอาเซียนพบว่า มีผลค่อนข้างดี คนในแต่ละช่วงวัยได้รับโอกาสทางการศึกษา ทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ การยกระดับกลุ่มแรงงานให้มีการศึกษาสูงขึ้น ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีอีกหลายคนที่จบการศึกษาเพียงระดับชั้นประถมศึกษา 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มีการติดตามผู้เรียนหรือไม่ว่า ทำไมจึงออกจากระดับการศึกษาไปตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      ในอดีตมีหลายปัจจัย เช่น สภาพทางเศรษฐกิจ การอพยพติดตามผู้ปกครอง เป็นต้น แต่ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี และนำเลขบัตรประชาชน ๑๓ หลักมาใช้ในการติดตามผู้เรียน พบว่า สภาวการณ์ดีขึ้น สามารถติดตามได้ว่า เด็กออกมาไปอยู่ที่ไหน ตามตัวได้ การศึกษานอกระบบ การศึกษานอกโรงเรียน สามารถเข้ามามีส่วนช่วย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าห้องเรียนก็ได้ สามารถไปเทียบความรู้จากประสบการณ์ และฝีมือการทำงาน
       
ผู้ดำเนินรายการ:      จะเห็นได้ว่า ตัวเลขที่ต้องการคือเด็กก่อนวัยเรียน จะต้องเข้าไปดูแลให้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ 
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      เด็กก่อนวัยเรียนมีประมาณ ๘ แสนคน ขณะนี้เด็กก่อนวัยเรียนที่ไม่ได้เข้ามีประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เลขบัตรประชาชน ๑๓ หลักในการติดตาม ซึ่งคิดว่าจะทำได้ เมื่อก่อนไม่ได้ประกาศเป็นกฎหมายในแง่ของภาคบังคับ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศ เด็ก ๓ ขวบจะเริ่มมีค่าใช้จ่ายรายหัวให้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเพิ่มจำนวนนี้จะให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้
       
ผู้ดำเนินรายการ:      ปัญหาเรื่องเด็กชายขอบจะสามารถเข้าถึงได้หรือไม่
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :     เรื่องนี้เป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจากการประชุมมีผู้แทนจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่อยู่ตามชายขอบ ปัญหาคือ เด็กพวกนี้อยู่ตามหย่อมบ้าน เป็นบ้านหลัง ๆ ที่อยู่ห่างไกล เด็กไม่สามารถออกมาเรียนหนังสือในโรงเรียน ซึ่งถ้าไปตั้งโรงเรียนก็ไม่คุ้มค่าเพราะเด็กมีน้อยมาก จึงต้องใช้วิธีการส่งครูเข้าไป โดยการประสานกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะเข้าไปสำรวจ หาวิธีการที่จะให้เด็กได้เรียนหนังสือ รวมกลุ่มกันเป็นบ้านเรียน คือให้เลือกบ้านที่มีศักยภาพและรวบรวมเด็กในระแวกนั้นมาเรียน จะมีการสนับสนุนสื่อและงบประมาณเข้าไป ซึ่งคิดว่าเด็กเหล่านี้จะเข้าถึงการศึกษาได้ดีขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ:      เมื่อเด็กเหล่านี้จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้ว   จะสามารถเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำหรือไม่ อย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      ขณะนี้มี โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่รับเด็กจากชาวเขาชายชอบมาเรียน โดยจะขยายโรงเรียนเหล่านี้ให้มีมากขึ้น 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     เด็กเหล่านี้เรียนดี ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า หากเด็กเหล่านี้มีโอกาส เด็กจะมีความสามารถไม่ต่างจากเด็กทั่วไป
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      ใช่ค่ะ บางครั้งอาจดีกว่าในแง่ของความขยันหมั่นเพียร และเด็กส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบจะกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เช่น ครูที่สอนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ที่จบการศึกษาแล้วกลับไปเป็นครู ช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งในแผนการศึกษาแห่งชาติมีการจัดตั้งกองทุนการศึกษา คนกลุ่มนี้จะต้องได้รับการดูแลในแง่จำนวนเงินที่มากกว่าเด็กทั่วไป เพราะอยู่ห่างไกล และลำบาก จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ 
       
ผู้ดำเนินรายการ:      คนในเมืองอาจไม่เข้าใจว่า การเดินทางข้ามดอยมาเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนปิดเทอมอาจจะไม่ได้กลับบ้าน
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      นอกจากค่าเรียน ยังต้องดูแลเรื่องการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้จึงได้รับเงินมากกว่าเด็กโดยทั่วไป
       
ผู้ดำเนินรายการ:      เพราะฉะนั้น จากนี้ไปจะทำให้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และจะขยายถึงระดับชั้นประถมศึกษา
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :     
ใช่ค่ะ รัฐบาลต้องการดูแลให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้รัฐบาลมียุทธศาสตร์และเป้าหมายในเชิงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเป็นคนไทย ความเป็นพลเมือง ต้องพัฒนาในเรื่องวินัย ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการประกอบอาชีพ เมื่อประเทศก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ขณะนี้มีความไม่สอดคล้องกันคือการผลิตกับการรับคนเข้าทำงานมีสาขาไม่ตรงกัน จึงต้องจัดระบบกันใหม่ พิจารณาว่าประเทศไทยต้องการแรงงานสาขาอะไร โดยมีจะเครื่องมือไปกำกับ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินงบประมาณให้สถาบันการศึกษาในสาขาที่ขาดแคลน และจะให้ทุนคนที่เรียนในสาขาที่เป็นความต้องการ 
       

ผู้ดำเนินรายการ: 
    เราคงได้เห็นสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา  :      ใช่ค่ะ
       
ผู้ดำเนินรายการ:      สำหรับวันนี้ขอขอบคุณ ดร. วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้รับฟังรายการ 
       
      ............................................................................................................................
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด