สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าแผนการศึกษาแห่งชาติ ๒๐ ปี

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ความก้าวหน้าแผนการศึกษาแห่งชาติ ๒๐ ปี วันศุกร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา

 

ผู้ดำเนินรายการ :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ได้รับเกียรติจากท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นายชาญ ตันติธรรมถาวร มาร่วมสนทนาในประเด็น ความก้าวหน้าของแผนการศึกษาแห่งชาติ ๒๐ ปี ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีที่ได้มีมติอนุมัติเรื่องนี้ไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก่อนอื่นขอให้ท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษากล่าวถึงความเป็นมาของการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีภารกิจหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬากับการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท และได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๙) ได้สิ้นสุดระยะเวลาของแผนในปี ๒๕๕๙ ดังนั้น สกศ. จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี
       
      ในการดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การยอมรับ และเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนฯ และสามารถขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้ศึกษาสภาวการณ์และบริบทแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศทั้งด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัลแบบก้าวกระโดดที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภูมิภาค และโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัย และทักษะของประชากรในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับความท้าทายและมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุค ๔.๐ และนำผลการติดตามประเมินแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๘ ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวกับบริบทการจัดการศึกษา โอกาสทางการศึกษา คุณภาพการศึกษา  ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษา และการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งพัฒนาการศึกษากับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษา ทั้งที่เกิดจากปัญหาของระบบการศึกษา และจากสภาวการณ์ของโลกที่ประเทศต้องเผชิญ เพื่อนำมากำหนดแนวคิดของการจัดการศึกษา นำมาสู่วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมายด้านผู้เรียน เป้าหมายการพัฒนาการศึกษา บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ และเป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนา รวมทั้งโครงการเร่งด่วนที่สำคัญ และการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ
       
      ซึ่งขณะนี้ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา เรียบร้อยแล้ว
       
ผู้ดำเนินรายการ :     แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ มีกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนและวัตถุประสงค์อย่างไร
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     แนวคิดของการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ยึดหลักการ เป้าหมาย และแนวคิด ต่อไปนี้
       
      หลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงอายุมีโอกาสในการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
       
      หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) เป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนกลุ่มปกติ กลุ่มด้อยโอกาสที่มีความยากลำบากขาดโอกาสเนื่องด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและภูมิสังคม ซึ่งรัฐต้องดูแลจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาสนับสนุนผู้เรียนกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาเต็มตามศักยภาพ พัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถนะให้สอดคล้องกับโลกศตวรรษที่ ๒๑
       
      หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำรงชีวิตและการประพฤติปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างพอเพียง เท่าทันและเป็นสุข การศึกษาจึงต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้ มีทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอก โดยยึดหลักความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
       
      หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพให้กับประชาชนทุกคน เป็นพันธกิจที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสังคมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมระดมทุนเพื่อการศึกษา หรือร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชนของสังคมทั้งประเทศได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ
       
      นอกจากหลักการทั้งสี่ด้านที่กล่าวมาข้างต้น ทุกคนยังต้องคำนึงถึงเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ ๑๒ จึงต้องนำแนวคิดเรื่องนี้เข้ามาสู่แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ด้วย เพื่อแก้ไขการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้วางกรอบการดำเนินงานในการนำแผนการศึกษาแห่งชาติมาปรับใช้หรือไม่ อย่างไร
       

ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :
    แผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๒๐ ปี  ในช่วง ๕ ปีแรก เป็นการขับเคลื่อนของบุคลากรที่อยู่ด้านการศึกษา รวมทั้งภาคสังคมให้เข้ามามีบทบาท เกิดการมีส่วนร่วม จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการ เช่น ผู้เรียน หรือ สถาบันการศึกษา รวมทั้งต้องปรับการบริหารบุคคลงานครู ปรับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีระบบ ICT และเป็น Mix Data ที่ดีสามารถใช้ข้อมูลสู่การกำหนดนโยบายให้มีความชัดเจน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น มีระบบการประกันคุณภาพภายใน การประเมินคุณภายนอก จัดทำมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานวิชาชีพครู สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่สามารถกำกับทำให้ระบบต่าง ๆ ดีขึ้น ช่วง ๕ ปี ถัดไป เป็นการเร่งขยายผลในสิ่งที่ทำลงไปในช่วงระยะ๕ ปีแรก สามารถขับเคลื่อนและมีความครอบคลุมครบทั่วถึงพื้นที่มากขึ้น มีการติดตาม ประเมิน และนำมาปรับใช้ ระยะ ๕ ปีที่เข้าสู่ช่วงที่ ๓ จะมีการมองในเชิงการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่ทำมาถึงแม้ว่าจะครอบคลุม แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยั่งยืน ดังนั้นควรศึกษา ค้นคว้า สรรหานวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา เช่น นำ ICT เข้ามาช่วยเพื่อให้บริหารจัดการดีขึ้น เป็นต้น และระยะ ๕ ปีสุดท้ายของแผน เป็นการติดตาม และประเมินผลแผนการศึกษาแห่งชาติที่ผ่านมา โดยมีการติดตามเป็นระยะ ๆ สุดท้ายสิ่งที่ทำมาและได้ผลตอบสนองความต้องการของผู้เรียนมีมากน้อยเพียงใด และสามารถนำไปสู่การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ต่อไป และระหว่างช่วงของการดำเนินการในแต่ละช่วง ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาทั้งหมดให้มากที่สุด เช่น ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค สภาการศึกษาจังหวัด เครือข่ายต่าง ๆ    
       
ผู้ดำเนินรายการ :     จากนี้ต่อไปจะมีการปรับปรุง กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายต่าง ๆ   เพื่อให้มีความสอดคล้องการขับเคลื่อนการพัฒนา หรือเอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติระยะ     ๒๐ ปี หรือไม่
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจำเป็นต้องมี สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ เรื่องการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ให้เป็นแผนแม่บทเพื่อสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมทั้งต้องมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการจัดการศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบหลายเรื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น โดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ ต้องมีการปรับปรุงด้านระบบการบริหารงานบุคคล การบริหารจัดการโครงสร้าง  ระบบทางการเงินเพื่อการศึกษา เป็นต้น ส่วนกฎหมายเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้การพัฒนาการศึกษาดีขึ้น
       
      ส่วนคณะกรรมการองค์กรอิสระที่มีการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำหน้าที่คอยกำกับให้กรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนทรัพยากร บูรณาการองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดความเชื่อมโยงและสามารถที่จะใช้ประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษามองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวงการการศึกษาในประเทศไทยอย่างไร
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :    

โลกในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ถ้าการศึกษาปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความล้าหลัง กระทรวงศึกษาธิการกำลังมีการปรับปรุงให้มีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น เรื่องการเร่งผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา เรื่องการจัดการศึกษาแบบทวิภาคี เรื่องมหาวิทยาลัยที่ต้องเน้นงานด้านเชิงวิจัยมากขึ้น เป็นต้น ส่วนใหญ่ดำเนินตามทิศทางของกรอบแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อไปสู่เป้าหมายในเรื่องโอกาส ความเสมอภาค คุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง

 

       
ผู้ดำเนินรายการ :     พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเรียนหนังสือจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างไรต่อไปในอนาคต
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     ลูกหลานของพ่อแม่ผู้ปกครอง คนที่สามารถจ่ายจะต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้สถานศึกษามีทรัพยากรที่เพียงพอในการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บางระดับการศึกษาซึ่งไม่ได้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ผู้เรียนอาจจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น การเก็บค่าเล่าเรียนที่มากขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคกับผู้ที่ยากจน เนื่องจากว่ารัฐบาลมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สำหรับบุคคลที่ไม่มีเงินจ่าย อาจจะมีกองทุนสำหรับคนที่ด้อยโอกาส/ยากจน จากประชาสังคมโดยการให้ทุนการศึกษา การนำเงินบริจาคมาลดหย่อนภาษีได้ สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้คนในสังคมมีเงิน ทรัพยากรที่เพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ :     สุดท้ายนี้ ข้อให้ท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษาฝากข้อคิดที่มีประโยชน์ต่อผู้รับฟังรายการ
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     สิ่งที่อยากฝาก คือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการพัฒนาการศึกษาทั้งประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้จัดการศึกษาเป็นหลักมาเป็นผู้กำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน ส่งเสริม สนับสนุน และปล่อยให้ทุกคน ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ส่วนรัฐมีหน้าที่เพียงแค่กำกับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน ทำให้ระบบการศึกษามีการแข่งขันในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้เรียนจะได้ประโยชน์การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ
       
ผู้ดำเนินรายการ :     วันนี้ขอขอบพระคุณท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นายชาญ ตันติธรรมถาวร ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
      ...............................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด