สกศ. เสริมสร้างศักยภาพองค์การด้านการศึกษาที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายของรัฐบาล

image

                          เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพองค์การด้านการศึกษาที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายของรัฐบาล" ณ โรงแรมอัล มีรอซ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ

                          นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งว่า องค์กรภาคการศึกษามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เป็นต้น ที่ผ่านมาบทบาทของรัฐเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศึกษา และผูกขาดการจัดการศึกษา ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ขาดการเข้ามามีส่วนร่วม และไม่สามารถแข่งขันได้  ในโลกศตวรรษที่ ๒๑ เป็นโลกของความเปลี่ยนแปลงที่มีความเป็นพลวัตร มีการแข่งขัน แม้การศึกษาจะเป็นสินค้าสาธารณะที่คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษา แนวคิดนี้คงต้องเปลี่ยนเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น บทบาทของรัฐในอนาคตต้องเปลี่ยนไป จากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้กำกับนโยบายแผนติดตามประเมิน ส่งเสริม สนับสนุนให้มากขึ้น โดยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่มีศักยภาพและความพร้อมเข้ามาจัดการศึกษาให้มากขึ้น มีระบบของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพและประสิทธิภาพในบริหารจัดการภายใต้กลไกการตลาด ทำให้ระบบการศึกษาในอนาคตของประเทศมีการแข่งขัน มีความเป็นพลวัตรและสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าให้ประเทศมากขึ้น แนวคิดของแผนการศึกษาแห่งชาติที่จะประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการศึกษา จากบทบาทของรัฐที่เป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้กำกับติดตามการศึกษาให้มากขึ้น และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อร่วมสนับสนุนการศึกษา ร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายตามประโยชน์ที่ผู้เรียนได้รับ สังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น บทบาทของรัฐคือการทำให้แต่ละคนได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นตามศักยภาพที่แต่ละคนเป็นไปได้ และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น

 

                         ดร.นนทวัฒน์  สุขผล ที่ปรึกษาด้านระบบคุณภาพองค์การของสกศ. และผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายสำคัญของ สกศ. ซึ่งต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในอีก ๓-๕ ปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าการศึกษาไทยจะพลิกโฉมบทบาทสำคัญ ๕ เรื่อง จากการขับเคลื่อนของ สกศ. เช่น ๑. พัฒนารูปแบบการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรการศึกษา ให้มีความคิดสร้างสรรค์ในระดับมาตรฐานสากล ๒. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และกลไกการเทียบเคียงคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศ ไทย (NQF) เทียบเคียงกับอาเซียน (AQRF) ๓. สกศ. เป็นศูนย์กลางการศึกษา วิจัยแห่งชาติ Education Research Excellent Center ทำหน้าที่ผลักนวัตกรรมทางการศึกษา ๔. ยกระดับ สกศ. เป็น Knowledge and Data Center ที่เชื่อมโยงกับ Big Data เพื่อใช้ในการจัดการศึกษา และ ๕. เร่งยกร่างผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

 

                          นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาชาติหรือวิจัยการศึกษาชาติจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจในอนาคตด้วย ดังนั้น การกำหนดทิศทางการศึกษาชาติต้องร่วมกับผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อฟังเสียงความต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อได้ร่วมกันออกแบบแผนและนโยบายการศึกษาชาติให้ชัดเจน และทำการวิจัยการศึกษาของชาติให้ชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการหรือของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป
      

 

                           นางพิจารณา ศิริชานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นองค์กรหลักด้านการจัดทำและพัฒนาแผนการศึกษาแห่งชาติ พัฒนานโยบาย แผน มาตรฐาน และกฎหมายของชาติ สกศ. ได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องที่นำมาพิจารณา เช่น นโยบายรัฐบาล แนวโน้มและทิศทางของโลกทั้งในระดับอาเซียนและสากล ในส่วนของนโยบายการศึกษา สกศ. ได้รับมอบหมายให้ศึกษาในเรื่องทิศทางการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ของประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทำอย่างไร ให้สามารถผลิตคนได้ตรงตามความต้องการ มีสมรรถนะที่เป็นที่ต้องการทั้งในระดับประเทศ และอาเซียน จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลความรู้ แนวทางการเสริมสร้างศักยภาพองค์การ การบริหารเชิงกลยุทธ์ การประยุกต์งานประจำสู่งานวิชาการระดับสากล การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ตลอดจนประเด็นต่าง ๆ ที่สะท้อนสภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย การบริหารการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา และภาคภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

 
   
 
   
   

                          สำหรับในช่วงเช้า มีการเสวนาเรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพองค์การด้านการศึกษาที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายของรัฐบาล” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสว่าง สุขศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคลกลาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดร. สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติ IMBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.นนทวัฒน์ สุขผล ที่ปรึกษาด้านระบบคุณภาพองค์การของ สกศ. และผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา และในช่วงบ่าย เป็นการแบ่งกลุ่มเสวนากลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ และ ๒ เรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพกลยุทธ์และการประยุกต์งานประจำสู่งานวิชาการระดับสากลขององค์การด้านการศึกษาที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายของรัฐบาล" และกลุ่มที่ ๓ เรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน/ภาคประชาสังคม/ภาคเอกชนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายของรัฐบาล” 

 
   
 
   
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด