สกศ. จัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ นัด ๓ ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

image

         เมื่อวันที่  ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ร่าง นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ พร้อมนำเสนอร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว

 
   
   
 
   
 

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนจากภาคเอกชน กว่า ๖๐ คน ณ โรงแรมเค พาร์ค จังหวัดสุราษฎร์ธานี

         นางสาวสมรัชนีกร  อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีความสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ดีที่สุด ทั้งทางด้านร่างกาย การคิด และจินตนาการ เพื่อให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ สมวัย เหมาะสม และมีสมรรถนะที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

 
   
 

         สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ ๑) ตามนโยบายรัฐบาลด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ซึ่งขณะนี้ได้สิ้นสุดระยะเวลาตามแผนดังกล่าว สกศ. จึงจัดประชุมปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นจำนวนหลายครั้งจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อยก ร่าง นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔)  และสถานการณ์เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยในปัจจุบัน

 
   
   

         ร่าง นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ มีวิสัยทัศน์ คือ เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ พัฒนาการด้านร่างกาย และความแข็งแรงของร่างกาย พลานามัย สุขภาพอนามัย สติปัญญา อารมณ์ เศรษฐกิจ สังคม จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ รวมทั้งการคิดริเริ่มโดยปราศจากการกระทำด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ และในกระบวนการทั้งหมดนี้เด็กต้องพัฒนาและเรียนรู้ อย่างมีความสุข โดยการปฏิบัติต่อเด็กทั้งปวงอาศัยหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ การเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก และทั้งปวงเพื่อประโยชน์สูงสุดเพื่อเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย ๗ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดและการให้เด็กเข้าถึงบริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาเป็นพ่อแม่ การอบรมเลี้ยงดู และบทบาทของครอบครัว  ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย  ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การจัดระบบข้อมูลและตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย และการดำเนินการตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การศึกษา การวิจัยและการเพิ่มองค์ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย และการเผยแพร่องค์ความรู้ และยุทธศาสตร์ที่ ๗ กลไก การบริหารจัดการ การติดตามงานและประเมินผล และการสร้างเครือข่ายการประสานการทำงานร่วมกัน

 
   
   

         อย่างไรก็ตาม การจัดทำ ร่าง นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๔ จำเป็นอย่างยิ่งต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย สกศ. จึงจัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ร่าง นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ขึ้น การประชุมดังกล่าวจัดมาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ ๒ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังความคิดและร่วมพิจารณาให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความครอบคลุม  สมบูรณ์ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

 การประชุมในวันนี้ จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นในประเด็นเรื่องความชัดเจน ครอบคลุม ครบถ้วนตามวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์ของแต่ละยุทธศาสตร์  ความสอดคล้องของเป้าประสงค์กับมาตรการที่ใช้ในแต่ละยุทธศาสตร์  ความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด รวมถึงยุทธศาสตร์ต่างๆ สามารถตอบโจทย์พื้นที่ หรือภูมิภาค ในด้านโอกาส ความเสมอภาค การเข้าถึงบริการ คุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการด้านเด็กปฐมวัยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด โดยการแบ่งกลุ่มตามประเด็นยุทธศาสตร์เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ ๑ การอภิปรายยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดและการให้เด็กเข้าถึงบริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาการเป็นพ่อแม่ การอบรมเลี้ยงดู และบทบาทของครอบครัว

กลุ่มที่ ๒ การอภิปรายยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย

กลุ่มที่ ๓ การอภิปรายยุทธศาสตร์ที่ ๔ การจัดระบบข้อมูลและตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย และการดำเนินการตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การศึกษา การวิจัยและการเพิ่มองค์ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย และการเผยแพร่องค์ความรู้ และยุทธศาสตร์ที่ ๗ กลไก การบริหารจัดการ การติดตามงานและประเมินผล และการสร้างเครือข่ายการประสานการทำงานร่วมกัน

         ทั้งนี้ สกศ. จะได้รวบรวมความคิดเห็นเพื่อสรุปเสนอคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และติดตามผลการดำเนินงาน  และคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติต่อไป เพื่อให้ ร่าง นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ มีความสมบูรณ์ และสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างแท้จริง

 
   

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด