สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา วันศุกร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

ผู้ดำเนินรายการ  :     รอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สนทนาในประเด็น “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” ทราบมาว่าเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๐ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการจัดการเสวนา OEC Forum ขอเรียนถามขอเรียนถาม ผอ. เฉลิมชนม์ แน่นหนา ว่าการดำเนินการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ในครั้งนี้ มีประเด็นและวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
       
ผอ. เฉลิมชนม์ :     การจัดสภาการศึกษาเสวนา หรือ OEC Forum จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน ๆ ละ ๑ ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำประเด็นด้านการศึกษาทั้งของประเทศไทย และต่างประเทศที่มีความสำคัญมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยมีวิทยากรชั้นนำที่จะเป็นผู้ที่นำการเสวนา และมีการแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมการเสวนา จาก ๕๐ – ๖๐ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในเชิงนโยบาย หน่วยงานในเชิงปฏิบัติ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     การประชุมแต่ละครั้งมีเนื้อหาที่เหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
       
ผอ. เฉลิมชนม์ :     ประเด็นการเสวนาแต่ละครั้งมีความสำคัญต่อการศึกษา ทั้งนโยบายรัฐบาล นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม เช่น ประเด็นบทบาทการศึกษากับการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ประเด็นการพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ประเด็น Start Up Thailand 4.0 เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ประเด็นระบบคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย เป็นต้น
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     สภาการศึกษาเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้น เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” มีความก้าวหน้าหรือมีความน่าสนใจอย่างไร
       
ผอ. เฉลิมชนม์ :     สภาการศึกษาเสวนา หรือ OEC Forum ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๕ เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” มีท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นวิทยากรที่มานำเสนอ ก่อนอื่นขอเรียนถึงเมื่อครั้งการปฏิรูปการศึกษา ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามา โดยมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม ๖ คณะ ดังนี้ ๑) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงิน ๒) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษา ๓) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ ๔) คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา ๕) คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ และ ๖) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู 
       
      ท่านพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาและพัฒนามนุษย์ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมี ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายหลักของการศึกษาทั้งหมด ต่อมาท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้มอบหมายเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ท่านได้นำประเด็นด้านการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๔ หลังจากที่ท่านร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จึงเชิญท่านมาบรรยายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษา ว่าสิ่งที่ท่านคิด สิ่งที่รัฐธรรมนูญจะเป็น การวางกรอบ การนำมาให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างไร จะเป็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดสภาการศึกษาเสวนาในครั้งนี้
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่สนทนากันก่อนหน้า เป็นไปในทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่
       
ผอ. เฉลิมชนม์ :     ใช่ครับ และในระหว่างที่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลใช้บังคับ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมีคณะอนุกรรมการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ตอนนี้ทำเสร็จหมดแล้ว รอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะได้ดำเนินกระบวนการเรื่องการออกกฎหมายต่อไป นอกจากพระราชบัญญัติการศึกษาที่ได้เตรียมไว้เป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษารอบนี้ทำฉบับเดียวไม่ได้ จึงต้องมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดระบบ ระเบียบด้านการศึกษาตามที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สำหรับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะได้ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูป
       
      รัฐธรรมนูญได้ระบุว่าจะต้องมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมา ๑ ชุด เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน ๒ ปี โดยได้เตรียมการร่างระเบียบ กติกา หลักเกณฑ์ในการสรรหาคนมาอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ มอบโจทย์ว่าไม่ควรเอาคนในวงการศึกษาเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นคนชั้นนำที่สามารถมองอนาคตว่าในอีก  ๑๕ – ๒๐ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หลังจาก ๒ ปี เมื่อคณะกรรมการอิสระชุดนี้หมดหน้าที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาคิดว่าจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมารองรับจับมือต่อจากคณะกรรมการอิสระที่หมดวาระลง จึงเร่งผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ๑) ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการการศึกษาและพัฒนามนุษย์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ต่อจากคณะกรรมการอิสระ คณะกรรมการการศึกษาและพัฒนามนุษย์ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลเก็บข้อมูล เพื่อผลักดันนโยบายที่วางไว้ให้เป็นรูปธรรมที่แท้จริง
       
      ๒) เรื่องการจัดการศึกษาปฐมวัย ปัจจุบันได้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ จึงมีการเตรียมร่างพระราชบัญญัติปฐมวัย เพื่อที่จะดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งคลอดออกมา และก่อนเข้าโรงเรียน เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่สำคัญ สิ่งนี้ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๔ วรรคสอง ไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย” ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติปฐมวัยเกิดขึ้นมา
       
      ๓) พระราชบัญญัติเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งการที่จะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี ต้องมีการควบคุม และใช้งบประมาณ
       
      ๔) พระราชบัญญัติกองทุนการศึกษา สำหรับกองทุนเพื่อพัฒนาเด็กและครู จากการเสวนามีโจทย์ใหม่ที่ต้องไปทำคือ ๑ กองทุน ๒ วัตถุประสงค์
       
      นอกจากนี้ ได้เตรียมกฎหมายย่อย ๆ ไว้เพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งเป็นผลในการขับเคลื่อน มี ๒ เรื่อง ได้แก่ ๑) พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานิติบุคคลในกำกับ ๒) ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีการเตรียมไว้หมดแล้ว
       
      สภาการศึกษาเสวนาครั้งนี้ “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้พูดถึงหลักการในเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้ เช่น จะพัฒนาครูอย่างไร พัฒนาเด็กอย่างไร เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องไปพิจารณากฎหมายของตัวเองที่มีอยู่ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ต่อไป เป็นการยกระดับการศึกษาให้มีมาตรฐานขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดสภาการศึกษาเสวนาขึ้นมาเพื่อเป็นการนำเสนอแนวคิด เพื่อให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปทำเป็นข้อกำหนด ข้อปฏิบัติ หรือดำเนินการอื่น ๆ ต่อไป
       
ผอ. เฉลิมชนม์ :     ใช่ครับ แต่อาจจะไม่ใช่เป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว แต่อาจจะเป็นการจุดประกายให้ถึงสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่อาจจะทำต่อไปคืออะไร บางเรื่องต้องนำมาพิจารณาว่าควรจะปรับเพิ่มเติมอย่างไร
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ขอให้ท่าน ผอ. เฉลิมชนม์ แน่นหนา กล่าวถึงทิศทางปฏิรูปการศึกษาว่าตอนนี้ควรมุ่งไปในทิศทางใด อย่างไร
       
ผอ. เฉลิมชนม์ :     เด็กไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ ทำอย่างไรจะทำให้เด็กไทยเป็นเด็กที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น คำว่าคุณภาพไม่ได้หมายถึงเฉพาะด้านการศึกษาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงกาย จิต เป็นองค์ประกอบที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษา ต้องมีทั้งสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู กระบวนการฝ่ายนโยบาย เด็ก เป็นต้น ดังนั้นการจัดการศึกษาในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ที่พูดถึงกัน ควรจะมีการปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา งบประมาณ เป็นต้น ถ้ามีการปรับเปลี่ยนจะมีการพัฒนา เพราะในอนาคต ๓ – ๔ ปีข้างหน้า จำนวนครูจะหายไปจากระบบประมาณ ๒ แสนคน เพราะมีการเกษียณอายุออกไป ดังนั้น ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดการท้องถิ่น ตำแหน่งจะต้องมีการโอนให้ส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ไปจัดการสถานศึกษา ซึ่งบางท่านอาจไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องปรับบทบาทให้เป็นผู้กำกับนโยบาย ติดตามประเมินผล อำนวยความสะดวก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญมาก เรื่องหลักสูตร ต้องให้ความเป็นอิสระกับสถานศึกษาให้มากขึ้น ถ้ามีการคลายกฎต่าง ๆ ออกไป โดยให้อำนาจลงไปที่ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นตามที่ทุกคนต้องการ
       
      อีกประเด็นหนึ่ง ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากำลังดำเนินการร่างพระราชบัญญัติปฐมวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ตอนนี้ยังขาดแคลนครูด้านปฐมวัย เพราะเป็นศาสตร์เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้คนประกอบ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
ผอ. เฉลิมชนม์ :     ผู้สนใจที่จะเข้ารับฟังสภาการศึกษาเสวนา สามารถสำรองที่นั่งได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โทรศัพท์ ๐๒ ๖๖๘ ๗๑๒๓ เว็บไซต์ www.onec.go.th หรือสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ที่ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”
       
ผู้ดำเนินรายการ  :      ในวันนี้ ได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์มากเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา และแนวทางที่จะปฏิบัติ ปรับประยุกต์ใช้ต่อไป วันนี้ขอขอบพระคุณ ผอ. เฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
       
      .................................................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด