สกศ. เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐

image

 

            

             เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานตามแผนงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. มนตรี แย้มกสิกร ในรองประธานกรรมการฯ ทำหน้าที่เป็นประธาน ดร. วัฒาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา และ นายดิเรก พรสีมา เป็นกรรมการที่ปรึกษา ศาสตราจารย์อารี สัณหฉวี ผู้ทรงคุณวุฒิ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

   
   

 

             สำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณารายงานวิจัยชุด “การผลิตและพัฒนาครูที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทยและความเป็นสากล” จำนวน ๔ เล่ม ประกอบด้วย

 

             เล่มที่ ๑ ระบบและรูปแบบการผลิตครูและระบบวิจัยของสถาบันผลิตครูที่เหมาะสมกับสังคมไทยความเป็นสากล มีประเด็นศึกษา ได้แก่ เรื่องการศึกษาคุณลักษณะครูตามความต้องการของโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่องระบบการผลิตครูที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา เรื่องโครงสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนการผลิตครู และการใช้ครูของหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทย เรื่องระบบและกลไกการผลิตครู (อาชีวศึกษา) ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และเรื่องระบบการมีใบอนุญาตประกอบอาชีพครูของไทยและต่างประเทศ

 

             เล่มที่ ๒ ระบบและรูปแบบการพัฒนาครูที่เหมาะสมกับสังคมไทย ความเป็นสากล มีประเด็นศึกษา ได้แก่  เรื่องสมรรถนะครูและมาตรฐานวิชาชีพครูที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เรื่องระบบการติดตามผลการพัฒนาครูในรอบ ๑๐ ปี (ปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๙) และระบบที่เหมาะสมในอนาคต เรื่องระบบการคัดเลือก บรรจุครู ที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในอีก ๑๐ ปี ข้างหน้า (ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๙) ทั้งสายสามัญ – สายอาชีพ และเรื่องกระบวนทัศน์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาครู

 

             เล่มที่ ๓ ระบบการใช้ครูและการบริหารงานบุคคลของครูที่เหมาะสมกับสังคมไทย มีประเด็นศึกษา ได้แก่  เรื่องระบบอัตรากำลังครูที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา

 

             เล่มที่ ๔ ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนการผลิตครู การพัฒนาครู และการบริหารงานบุคคลของครู  มีประเด็นศึกษา ได้แก่ ๑) ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนการผลิตครู ได้แก่ ๑.๑ จัดให้มีหน่วยงานกลางระดับชาติทำหน้าที่กำหนดทิศทาง กำกับ ประสานงานและประเมินการผลิตครูที่มีคุณภาพสูง วางระบบการพัฒนาครูให้มีศักยภาพสูง และมีระบบการบริหารงานบุคคลที่สนองตอบต่อความต้องการจำเป็นต่อการใช้ครูแต่ละพื้นที่และสังกัด ๑.๒ กำหนดมาตราการที่สามารถสร่างแรงจูงใจให้บุคคลที่มีความสามารถสูง และมีอุดมการณ์มุ่งมั่นศรัทธาต่อวิชาชีพครู เข้ามาสู่วิชาชีพครู ๑.๓ พัฒนาคุณภาพระบบการผลิตครูให้สามารถสร้างสมรรถนะที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของพื้นที่ และหน่วยผู้ใช้ครู ๑.๔ พัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันผลิตครู ให้มีความพร้อมทั้งบทบาทการผลิตครู และบทบาททางการพัฒนาครู ๑.๕ สถาบันผลิตครู ต้องมีความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่รับผิดชอบที่กำหนดให้ ๑.๖ พัฒนาเครือข่ายการผลิตครูระหว่างสถาบันการผลิต ๑.๗ กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมของการดำเนินงานวิชาชีพครูที่มีคุณภาพ และ ๑.๘ กำหนดกรอบนโยบายเกี่ยวกับการผลิตครู การพัฒนาครูและการใช้ และการบริหารงานบุคคลของครูของทุกสังกัด

 

             ๒) ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาครู ได้แก่ ๒.๑ กำหนดระบบการพัฒนาครู ให้มีความต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะการเป็นครูใหม่ ครูระยะก้าวหน้า และครูอาวุโส ๒.๒ ปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมของการดำเนินงานวิชาชีพครูที่มีคุณภาพ ๒.๓ ส่งเสริมและให้อำนาจการตัดสินใจกำหนดประเด็นการพัฒนาครูอยู่ที่ระดับจังหวัดและสถานศึกษา ๒.๔ ส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพร่วมกันของครู เพื่อสร้างนิสัยการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องของครูและบุคลากรทางการศึกษา ๒.๕ พัฒนาวัตถุประสงค์การดำเนินชีวิตในวิชาชีพครู ตามระยะเวลาของการอยู่ในวิชาชีพครูให้ชัดเจน ๒.๖ ใช้การประเมินเป็นเครื่องมือการกำกับทิศทางการสะท้อนคุณภาพการศึกษา  ๒.๗ ปรับกระบวนการเข้าสู่วิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ๒.๘ กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีมาตรฐานวิชาชีพที่แตกต่างไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ๒.๙ ปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครูให้มีอำนาจการแจกแจงสะท้อนระดับการพัฒนาตนเองของครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ๒.๑๐ ปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมของการดำเนินงานวิชาชีพครูที่มีคุณภาพและครอบคลุมครูทุกสังกัด

 

             ๓) ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของครู ได้แก่ ๓.๑ ปฏิรูปการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุครูใหม่โดยเน้นการวัดความรู้ ความสามารถด้าน PCK ด้วยข้อสอบกลาง ๓.๒ ปรับกระบวนการเข้าสู่วิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยครอบคลุมครูทุกสังกัด ๓.๓ กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จัดการเรียนรู้ในระดับอาชีวศึกษา มีมาตรฐานวิชาชีพที่แตกต่างไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบคลุมครูทุกสังกัด ๓.๔ ปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครูให้มีอำนาจแจกแจงสะท้อนระดับการพัฒนาตนเองของครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยครอบคลุมครูทุกสังกัด

 
   
   
   
   

             ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

 
   

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด