สกศ. ร่วมมือเขตพื้นที่ฯ จัดทำแนวทางและแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายการจัดการศึกษาประชารัฐ นัดแรกจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

image

          เมื่อวันที่ (๒๐ มกราคม ๒๕๖๐) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดทำแนวทางและแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายการจัดการศึกษาประชารัฐ " จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี ดร. ทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดการประชุม  และมีนายบุญเทียม อังสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑ ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้กล่าวรายงาน

 
   
   
   

           ดร. ทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวโดยสรุปว่า โลกและสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แนวทางจัดการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทัน ไม่จำเป็นต้องรอปรับหลักสูตรทุก ๓ ปี หรือ ๕ ปี เหมือนสมัยก่อน แต่ควรปรับเปลี่ยนตามสภาวการณ์ได้ตลอดเวลา สมัยก่อนหลักสูตรจะมาจากส่วนกลาง  แต่ถ้าจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น หลักสูตรต้องเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ในท้องถิ่นด้วย  การศึกษาต้องตอบสนองสภาพแวดล้อมได้ทั้งเรื่องการมีอาชีพที่ดี สามารถแข่งกับสังคมภายนอกและต่างประเทศได้  ขณะเดียวกันต้องรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของสังคมไทยไว้ด้วย อย่างไรก็ตามแต่ละจังหวัดแต่ละภาคมีความแตกต่าง  ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เองก็มีความแตกต่าง เช่น ในจังหวัดมีทั้งภาคส่วนที่เป็นการท่องเที่ยว  ภาคส่วนที่เป็นเกษตรกรรม อุตสาหกรรม  ประมงฯลฯ  การจัดการศึกษาจึงต้องตอบสนอง ทั้งนี้การศึกษาไม่ใช่เพียงการศึกษาในระบบ แต่รวมถึงนอกระบบและการเรียนรู้ต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนชรา  ซึ่งแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการตามนโยบาย คสช. นับว่าก้าวหน้ามาก เป็นการปฏิรูปการศึกษา รูปแบบประชารัฐที่รัฐบาลส่งเสริมเป็นการระดมความคิดเห็น ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะพัฒนาร่วมกัน ในด้านการศึกษารัฐเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรได้ ทุกภาคส่วนสามารถเสนอความคิดเห็นไปส่วนกลางได้ทุกระดับตั้งแต่ประถมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย ดังนั้นการบูรณาการทำงานร่วมกันสำคัญมาก เพราะโรงเรียนไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวต้องอยู่กับสังคม ซึ่งองค์ความรู้หลักที่สำคัญ ๓ สิ่งที่ต้องพัฒนา คือ ๑. ความรู้ ๒. ทักษะเพื่อให้มีความชำนาญและ ๓.ทัศนคติให้เป็นคนดี  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดต้องดำเนินการคือยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา โดยการวางกลยุทธ์การบริหารในทุกระดับมี ๒ ปัจจัยหลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ๑. ภัย เพราะภัยบ่อนทำลายการพัฒนา การมีแผนป้องกันภัยจะช่วยลดความเสียหายให้น้อยที่สุด เช่น ภัยน้ำท่วม จะวางแผนรับมืออย่างไรก่อนน้ำท่วม  ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องทำอย่างไร เช่น ให้ความรู้กับนักเรียน ผู้ปกครอง เพราะจะได้ระวังไม่จมน้ำ เป็นต้น ปัจจัยที่สองคือ การพัฒนา ถ้าป้องกันภัยได้ การพัฒนาก็สามารถทำได้เต็มที่ไม่สะดุด ในการพัฒนานั้น ต้องวิเคราะห์ว่าพื้นที่มีอะไรเด่น ก็ปรับหลักสูตรให้รองรับ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกองบินห้า แต่ยังขาดคนซ่อมเครื่องบิน  มีทะเลแต่ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับเรือ  มีพลังงานแสงอาทิตย์ดี สามารถรับติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้ แต่ก็ยังไม่มีการต่อยอดด้านนี้อย่างจริงจัง มีแหล่งขุดเจาะน้ำมันแต่ยังขาดช่าง ฯลฯ สิ่งเหล่าคือศักยภาพของท้องถิ่นที่ต้องช่วยกันคิดวิเคราะห์ พัฒนาว่าตลาดแรงงานยังขาดอะไร ควรมีหลักสูตรผลิตคนให้เข้ากับจุดเด่นในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้เด็กเยาวชนผู้ปกครองทราบ เมื่อมีข้อมูล เยาวชนจะได้มีเป้าหมายในการเรียนรู้  มีอาชีพ ประเมินตนเองได้ถูก เลือกสิ่งที่ตนสนใจได้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป

 
   
   

           นายบุญเทียม อังสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑ กล่าวรายงานว่า สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑ ได้ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดตั้งเครือข่ายการศึกษาประชารัฐ” ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดตั้งเครือข่ายการศึกษาประชารัฐ โดยมีตัวแทนจาก ๘ จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี เลย และนครพนม ร่วมกับตัวแทนจากจังหวัดที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการศึกษาประชารัฐมาแล้วมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลจากการประชุม ฯ ครั้งนั้น สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑ ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การศึกษาประชารัฐ จึงร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำแนวทางและแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายการจัดการศึกษาประชารัฐ” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้น โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ระดมความคิดและจัดทำแนวทางแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายการศึกษาประชารัฐ และวางแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายการศึกษาประชารัฐของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในครั้งนี้

 
 
   
 
   


           นายรวิช  ตาแก้ว นักวิชาการอิสระ อดีตผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือและสมัชชาทางการศึกษา บรรยายพิเศษ เรื่อง การศึกษาประชารัฐ : เป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ กล่าวโดยสรุปว่า คนมักคิดว่าการศึกษาต้องมาจากหน่วยงานนโยบายส่งมาสู่หน่วยปฏิบัติเท่านั้น ความคิดความรู้ในท้องถิ่นจึงถูกละเลย  ทำให้ส่วนกลางครอบงำความรู้พื้นถิ่น  การเรียนการสอนจัดในรูปแบบเดียวกัน จึงไม่ตอบโจทย์นักเรียนและท้องถิ่น  ซึ่งอันที่จริงแล้ว ความรู้พื้นถิ่นสำคัญมากเพราะในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สิทธิเสรีภาพครอบครัว ชุนชม บุคคลในการจัดการศึกษาไว้  ดังนั้นคนประจวบฯ จึงสามารถออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับคนประจวบฯ เองได้  ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายประชารัฐทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน มาร่วมกันระดมความคิดว่าต้องการจะเห็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นอย่างไรในอนาคต ต้องการจะเห็นการศึกษาของคนประจวบฯ เป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์ของจังหวัดจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จังหวัดประจวบฯ ก็เช่นกัน  เช่น จะมีการเปิดด่านการค้าชายแดน  มีห้างสรรพสินค้ามาเปิด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว แต่หากคนประจวบฯไม่มีความพร้อม การจ้างแรงงานก็จะต้องจ้างจากคนนอกพื้นที่ ทำให้คนประจวบฯ เสียโอกาส ด้วยเหตุนี้ คนประจวบฯ จึงต้องระดมความคิดจากทุกภาคส่วนและผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาว่าประจวบฯ จะบริหาร จะจัดการศึกษาอย่างไรที่จะทำอย่างไรให้ลูกหลานคนประจวบฯ อยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข บนพื้นฐานของศักยภาพ ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ และจุดเด่นของจังหวัด

   

           ที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องแนวทางและยุทธศาสตร์เครือข่ายศึกษาประชารัฐจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่ม ๑ วิทยากร คือ นายสากล ขวัญทอง และกลุ่มที่ ๒ วิทยากร คือ นายสรณพงษ์  บัวโรย ซึ่งผลการระดมความคิดเห็นสรุปได้ดังนี้ ปัญหาที่พบปัจุจบันของจังหวัด คือ ปัญหาการสื่อสาร ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น เช่นชาวสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาทำงานที่ประจวบฯ มาก  เขาสามารถพูดภาษาไทยได้แต่คนไทยพูดภาษาเมียนมาไม่ได้  มีปัญหาขาดแคลนครู ครูสอนไม่ตรงเอก ขาดมาตรฐานในการคัดครู เด็กอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยคล่อง เด็กเรียนพิเศษทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง มีการใช้ภาษาโซเซียลมากจนอาจเคยชินใช้ผิดเป็นภาษาวิบัติได้ เด็กติดเกม ขาดแหล่งเรียนรู้  มีศูนย์ไอทีแต่ไม่มีเครื่องมือ ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำบ่อยทำให้ขาดความต่อเนื่อง รวมทั้งทิศทางการศึกษายังไม่ชัดเจนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ นอกจากนี้ในด้านอื่น ๆ ยังมีปัญหาเรื่องภัยพิบัติ เพราะบ้านเรือนปลูกสร้างขวางทางน้ำ รุกที่สาธารณะ ท้องถิ่นไม่เข้มแข็งในการดูแล กฎหมายไม่ชัดเจน ฯลฯ

          สำหรับแนวทางแก้ไข เรื่องเร่งด่วนที่ควรเร่งทำคือเรื่องการสื่อสาร ควรมีการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาจากจังหวัดให้ชัดเจน กำหนดหลักสูตรให้เรียนเพิ่มเติม มีมัคคุเทศก์น้อย เน้นพูดมากกว่าเขียน จัดอบรมภาษาให้เด็ก ประชาชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็กและประชาชนมีทักษะด้านภาษา ในด้านการวางแผนการศึกษาต้องกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดมีบทบาทที่ต้องดูแลประชาชนในช่วยวัยใด การผลิตก็จัดทำให้ชัดเจน เช่น มัธยมปลายเรียนวิชาพื้นฐาน โดยเพิ่มแนวทางในการประกอบอาชีพ มีการแนะแนวทางให้นักเรียนเพื่อให้สามารถค้นหาความสนใจของตนได้  อาชีวศึกษาเน้นเรื่องอาชีพ มหาวิทยาลัยควรผลิตเฉพาะทางที่ถนัด เช่น ผลิตด้านกฎหมายก็ผลิตด้านเดียว วิทยาศาสตร์ก็เน้นวิทยาศาสผลิตอย่างเดียว ฯลฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และมีการรองรับเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ สำหรับเรื่องภัยพิบัติ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ออกกฎหมายให้ชัดเจน   การสร้างอนาคตของจังหวัดประจวบเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน การขับเคลื่อนต้องเชิญทุกภาคส่วนมาช่วยกัน ทั้งรัฐ เอกชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดให้การสนับสนุน 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด