สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา จัดเสวนาภาคเหนือวางกรอบร่างกฎหมายการศึกษา ๓ ฉบับ พร้อมทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายที่จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๘ มกราคม ๒๕๖๐

image

        เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมและประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและจัดทำกฎหมายหมายการศึกษาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ” ครั้งที่ ๓ ภาคเหนือ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายการศึกษา นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งขาติ นายอาทร ทองสวัสดิ์ อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา วีระ พลอยครบุรี อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ. ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง

   
   

          นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สกศ. บรรยายพิเศษ เรื่อง การจัดทำกฎหมายการเกี่ยวกับการศึกษาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการศึกษา ซึ่งปัจจุบันปัญหาการศึกษาประเทศไทยที่สำคัญประการหนึ่งคือ ยังเกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษา ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องเริ่มพัฒนาการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย มีจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเป็นธรรม กำหนดให้มีกองทุนด้านการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาด้วย ทั้งนี้ การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและบริบทของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

         ที่ประชุมได้จัดเสวนาเรื่อง (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และ เรื่อง แนวทางการจัดทำกฎหมายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พร้อมระดมข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น และแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

         นายวีระ พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ควรนำประเด็นเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยและนวัตกรรมเทคโนโลยีในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ มาเชื่อมโยงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา พร้อมพิจารณาทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศในอนาคตนำไปสู่ การจัดการศึกษาของประเทศอย่างตรงเป้าหมาย สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องประยุกต์หลักการแนวคิดการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษา ควรผนวกศาสตร์สำคัญหรือความรู้ ๓ ประการ ได้แก่ ศาสตร์สากล ศาสตร์พระราชา และศาสตร์ภูมิปัญญาไทย บรรจุไว้ในกฎหมายด้วยเพื่อสอดรับกับบริบทสังคมไทยภายใต้การขับเคลื่อนโดยแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปีต่อไป

 
 

         นายสุทิน แก้วพนา ศึกษาธิการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้เกิดความคล่องตัว ครอบคลุมและสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น สมควรให้ความสำคัญในประเด็นทั้ง ๕ ด้าน ประกอบด้วย ๑.การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม ๒.การจัดการศึกษาสำหรับภิกษุ สามเณร ทั้งในส่วนของโรงเรียนสามัญและโรงเรียนปริยัติธรรม ๓.หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ที่ให้คงวามสำคัญในบทบาทของศึกษานิเทศก์ ๔.กองทุนสำหรับผู้ขาดแคลนทางการศึกษา โดยพิจารณาถึงรายได้ของสถานศึกษามาประกอบเพื่อจัดสรรเป็นทุนการศึกษาสำหรับผู้เรียน และ ๕.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งในร่างกฎหมายการศึกษาฉบับดังกล่าวให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

        ด้าน นายอาทร  ทองสวัสดิ์  ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติลายฉบับ อย่างไรก็ตาม ร่างที่นำมารับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ถือเป็นร่างของรัฐบาลต้องดำเนินการต่อไป ร่างกฎหมายฉบับนี้จะแยกโครงสร้างของกระทรวงออกจากกฎหมายศึกษา สาระสำคัญเน้นหลักความรับผิดชอบเป็นสำคัญ

        สำหรับการประชุมสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมและประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาและจัดทำกฎหมายหมายการศึกษาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ” ครั้งที่ ๓ ภาคเหนือ ทาง สกศ. ยังได้จัดประชุม   รับฟังความคิดเห็นในกฎหมายการศึกษา ๓ ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีทางการศึกษา พ.ศ. ....  และ ร่างพระราชบัญญัติปฐมวัย  พ.ศ. .... ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๘ มกราคม ๒๕๖๐ ทั้งนี้ จะได้เร่งสรุปสาระสำคัญผลประชาพิจารณ์ครั้งนี้เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุงและเพิ่มเติมสาระสำคัญในกฎหมายการศึกษาอย่างรอบด้านต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด