สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สภาการศึกษาเสวนา “บทบาทการศึกษากับการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐”

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง สภาการศึกษาเสวนา “บทบาทการศึกษากับการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐” วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ประเด็นสนทนา

ผู้ดำเนินรายการ  :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในประเด็น สภาการศึกษาเสวนา “บทบาทการศึกษากับการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐” ขอเรียนถามเกี่ยวกับการดำเนินการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ในครั้งนี้ มีประเด็นและวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     เมื่อวัน ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ในประเด็น สภาการศึกษาเสวนา “บทบาทการศึกษากับการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐” โดยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ และขับเคลื่อนชี้แจงยุทธศาสตร์ และแผนการศึกษาแห่งชาติ การศึกษาจะมีบทบาทอย่างไรที่จะช่วยในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ของประเทศไทย ๔.๐
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     วิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมอภิปรายในครั้งนี้มีใครบ้าง และสาระสำคัญหรือมุมมองที่น่าสนใจเป็นอย่างไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะประกอบด้วย ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา  และ ดิฉัน ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สกศ. นอกจากนี้ยังมีผู้อภิปรายนำ ๒ ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์บัณฑิต ทิพากร รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินรายการโดย นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา
       
      เริ่มต้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษานำเสนอในประเด็นไทยแลนด์ ๔.๐ คืออะไร การเตรียมตัวของคนไทยเพื่อที่จะเข้าสู่สังคมไทย ๔.๐ เป็นอย่างไร จะเป็นการนำเสนอของเลขาธิการสภาการศึกษา และรองเลขาธิการสภาการศึกษา เน้นว่าการเตรียมคนไทยในยุค ๔.๐ ต้องปรับทั้งหมดและทั้งกระบวนของการเตรียมคน เริ่มตั้งแต่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย รู้ก่อนว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องเป็นอย่างสร้างสรรค์ พยายามไม่ให้จำกัดความคิดของเด็ก หรือผู้เรียน เพราะในอนาคตจะไม่มีทางรู้เลยได้ว่าอาชีพในอนาคต โลกในอนาคต จะเป็นอย่างไร ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก หลังจากที่มีการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แล้วนั้น ต้องเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติลงมือทำ ไม่ใช่เรียนในเชิงทฤษฎี ท่องจำแล้วไปสอบเท่านั้น และจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อส่วนรวม ในอนาคตทุกอย่างจะมีความรวดเร็ว คนมีพื่นที่ส่วนตัว เทคโนโลยีทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้น แต่คนกลับไกลกันขึ้น ถ้ามีการเรียนรู้เพื่อส่วนรวม ทำเพื่อส่วนรวม คิดเพื่อส่วนรวม จะเป็นเกราะป้องกันของคนไทยไม่ให้ถูกตีด้วยเทคโนโลยี ทำให้เราไม่มีความสามัคคี ไม่มีความคิดที่ทำเพื่อประเทศ สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเรียนรู้ ๔ ด้าน เพื่อที่จะพาคนไทยไปสู่สังคมไทย ๔.๐ เพื่อให้คนไทยมีปัญญาที่เฉียบแหลม มีทักษะ มีเหตุผล มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีจิตใจที่งดงาม
       
ผู้ดำเนินรายการ  :      ในการจัดทำนโยบาย และแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้มีการเสนอยุทธศาสตร์ หรือวางยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ไว้อย่างไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาวางยุทธศาสตร์ ระยะเร่งด่วน ๑ – ๓ ปี และระยะยาว ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ  ในส่วนระยะเร่งด่วน ๑ – ๓ ปี จะเน้นกลุ่มคน ๕ กลุ่ม ได้แก่ ๑) ผู้มีความสามารถพิเศษ ซึ่งรัฐบาลลงทุนกับผู้มีความสามารถพิเศษจำนวนมาก แต่กลับใช้คนเหล่านี้ไม่คุ้มค่า ๒) กลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ๓) กลุ่มอุดมศึกษา มีบทบาทสำคัญในการทำวัจย และพัฒนา เพื่อคิดค้นนวัตกรรม อุดมศึกษาต้องเป็นสะพานในการเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ภาคอุตสาหรรม ๔) กลุ่มผู้สูงอายุ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่มีคุณค่า ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ในการมาช่วยพัฒนาประเทศ หรือสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระกับสังคม และ ๕) กลุ่มแรงงาน ปัจจุบันอาจเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ โดยต้องการยกระดับสมรรถนะกำลังแรงงานให้สามารถทำงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันไทยแลนด์ ๔.๐
       
      ส่วนในระยะยาว จะมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย ๗ ยุทธศาสตร์ คือ  ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตร การเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การยกระดับคุณ๓พ  มาตรฐานวิชาชีพครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรมรองรับความต้องการของตลาดงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาระบบข้อมูล  สารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การพัฒนาคุณภาพคนทุกช่วงวัยและสร้างสังคมแห่งการเรีนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาระบการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์ที่ ๗ การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษา
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ขอย้อนกลับมาที่ยุทธศาตร์เร่งด่วน ๑ – ๓ ปี ที่สามารถดำเนินการได้ทันที จะมีวิธีในการดำเนินการอย่างไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     ก่อนอื่นลำดับแรกต้องทำฐานข้อมูลระดับชาติ เพราะปัจจุบันไม่รู้เลยว่าผู้ที่มีความสามารถพิเศษอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ หลังจากนั้นต้องมอบหมายภารกิจให้กลุ่มเหล่านั้น รัฐบาลอยากให้คนกลุ่มแต่ละกลุ่มช่วยทำอะไร ระบบของรัฐบาลจะต้องเอื้อให้คนแต่ละกลุ่มสามารถทำงานร่วมกันได้ การขับเคลื่อนประเทศต้องช่วยกันในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     การพัฒนาในส่วนอาชีวศึกษา จะมีการคัดเลือกสถาบันอาชีวศึกษาเป็นพิเศษ ที่จะเปิดสอนหลักสูตรโดยเฉพาะ หรือไม่
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     ในส่วนของอาชีวศึกษา มีโครงการหลาย ๆ โครงการที่ทำงานร่วมกันกับสถานประกอบการ แต่บางครั้งมาตรฐานจะไม่เท่ากัน ดังนั้นจะต้องมีการยกระดับมาตรฐานของกำลังแรงงาน ยกระดับมาตรฐานของหลักสูตรที่เด็กไปทำงานกับสถานประกอบการ ทำให้ทุกสถานประกอบการมีมาตรฐานเท่ากัน ในช่วง ๑ – ๓ ปี จะเน้นในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายของรัฐบาลก่อน ที่เรียกว่า New S-Curve
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     นี่คือยุทธศาสตร์แร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที ในส่วนของมาตรฐานคุณภาพวิชาชีพของอาชีวศึกษา จะมีการบูรณาการร่วมกันกับทางสถาบันใดเพิ่มเติมบ้าง
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     ทางด้านมาตรฐานคุณภาพวิชาชีพของอาชีวศึกษา ในเรื่องอาชีพต้องมีสถานประกอบการ และอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการวางมาตฐาน วางกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกัน ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีคณะกรรมการที่ทำงานในเรื่องกรอบคุณวุฒิวิชาชีพอยู่แล้ว โดยทำงานร่วมกับหลายกระทรวงที่มีการจัดการศึกษาที่เกี่ยวกับอาชีพ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     หลังจากที่มีการประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum จะมีการนำเสนอยุทธศาสตร์ แนวทาง นโยบายต่าง ๆ แล้วนั้น จากนี้ไปจะมีการขยายผลเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มีการวางแผนไว้แล้วว่า หลังจากที่แผนการศึกษาแห่งชาติได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ประกาศใช้แล้ว จะทำการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับรู้ว่า แผนการศึกษาแห่งชาติมีอะไรบ้าง หน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำอะไร อะไรที่ควรทำก่อนหลัง
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     นั่นแสดงว่าในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาจะมีความจำเป็นอย่างมากในการเตรียมคนไทยสู่ยุคไทยแลนด์ ๔.๐   โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัลในอนาคตจะมีความสำคัญมาก สุดท้ายนี้  ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา  ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการเกี่ยวกับการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ในครั้งนี้และครั้งต่อไป
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     ประเด็นไทยแลนด์ ๔.๐ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นการบอกว่าการพัฒนาประเทศควรไปทิศทางใด การศึกษาจะไปสอดรับเพื่อพัฒนาคนไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างไร ซึ่งในสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ครั้งหน้าจะจัดขึ้นในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ประเด็น การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในยุคดิจิทัล ผู้นำเสนอคือ พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้อภิปรายนำ ได้แก่ ดร. ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร. เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ผู้อำนวยการสถาบัน NetDesign
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ถ้าผู้รับฟังที่สนใจอยากไปเข้าร่วมสภาการศึกษาเสวนา จะสามารถเข้าร่วมรับฟังได้หรือไม่ อย่างไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     ได้แน่นอนค่ะ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา www.onec.go.th  หรือสามารถรับชมการเสวนาสด ๆ ได้ทาง Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน”
       
 ผู้ดำเนินรายการ:      วันนี้ขอขอบพระคุณ และสวัสดีครับ
       
       ......................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด