สรุปประเด็นการสนทนา จส ๑๐๐ ประเด็น สมรรถนะเด็กปฐมวัยไทย : ก้าวไกลสู่มาตรฐานอาเซียน

image

   
   
 

สรุปประเด็นการสนทนา สถานีวิทยุ จส ๑๐๐ FM 100 MHz ประเด็นเรื่อง สมรรถนะเด็กปฐมวัยไทย : ก้าวไกลสู่มาตรฐานอาเซียน วันพุธที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๑๕ น. – ๑๓.๓๐ น. โดย นางสาวสมรัชนีกร  อ่องเอิบ  ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ประเด็นสนทนา

ผู้ดำเนินรายการ:     เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการจัดการเสวนา OEC Forum ครั้งที่ ๑๑ ประเด็น “สมรรถนะเด็กปฐมวัยไทย : ก้าวไกลสู่มาตรฐานอาเซียน” ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ) ว่า การดำเนินการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ในครั้งนี้ มีประเด็นและวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
       

ผอ.สมร.:
    ประเด็นเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะช่วงเด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้ โดยเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งก่อนเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ เป็นสิ่งที่พัฒนาเด็กให้เรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด สมองของเด็กจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ถ้าไม่ดูแลเด็กปฐมวัยให้ดี เด็กเหล่านี้จะมีพัฒนาการไม่ได้ตามวัย ไม่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงจัดการเสวนา OEC Forum ขึ้นมา ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๑ ประเด็น “สมรรถนะเด็กปฐมวัยไทย : ก้าวไกลสู่มาตรฐานอาเซียน” การเสวนาในลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของเด็กปฐมวัย หรือนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดเวทีในการพูดคุย ทำให้เกิดผลในเชิงนโยบาย 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     การเสวนาในครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ที่เข้าร่วมอภิปรายมีใครบ้าง และสาระสำคัญที่ได้รับจากการเสวนาเป็นอย่างไร
       
ผอ.สมร.:     ผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ ท่าน ได้แก่ ดร. สายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ นางธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งทั้ง ๓ ท่านเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเด็กปฐมวัย 
       
      การเสวนาครั้งนี้ ดร. สายสุรี จุติกุล กล่าวถึง เด็กปฐมวัย การพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ในครรภ์มารดา สมรรถนะเด็กปฐมวัยหมายถึงพฤติกรรมหรือความสามารถของเด็กที่จะแสดงออก เช่น เด็กเดินได้กี่ก้าวเมื่ออายุกี่เดือน ซึ่งได้มีการทดลองและดำเนินการวิจัยประมาณ ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา โดยนางธิดา พิทักษ์สินสุข และนายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป เป็นผู้วิจัยในกระบวนการทดลองด้วย ท่านได้มีการทดลองในส่วนโรงเรียนอนุบาลหลายแห่ง และนำไปทดลองใช้ใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล กรุงเทพฯ  และสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ซึ่งสมรรถนะเด็กมีตัวชี้วัดจำนวนมาก ต้องมีการทดลองไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ เช่น สมรรถนะของเด็ก ๓ ขวบ มี ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) ความสามารถในการเคลื่อนไหวและสุขภาวะทางกาย ๒) ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ ๓) ความสามารถด้านภาษา การสื่อสารความหมาย และ ๔) ความสามารถด้านอารมณ์และสังคม 
       
      สมรรถนะของเด็กในวัย ๐ – ๓ เดือน ถ้ามีสมรรถนะในด้านการเคลื่อนไหวและสุขภาวะทางกาย เช่น การเคลื่อนไหวแขน ขา ซ้าย ขวาได้เมื่อแรกเกิด หันหน้า หรือศีรษะได้ในขณะที่นอนหงาย หรือนอนคว่ำเมื่ออายุ ๑ เดือน ส่วนสมรรถนะของเด็ก ๓ – ๕ ปี จะมีมากกว่านั้น
       
      การที่นำไปใช้ในโรงเรียนหรือศูนย์ต่าง ๆ พบว่า ครูมองว่าเป็นการเพิ่มภาระงาน
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สิ่งที่ค้นพบนั้น พบว่าเด็กมีสมรรถนะเป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่ 
       
ผอ.สมร.:     ใช่ค่ะ สมัยก่อนเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้ทฤษฎีเข้ามาช่วย แต่เมื่อมีการพิจารณาในเรื่องสมรรถนะเด็ก มีการวิจัยและนำไปใช้กับเด็ก ให้เด็กสามารถทำได้ตามวัย เด็กบางคนทำได้ช้ากว่า คุณครูจะต้องเข้าไปเสริมในส่วนที่เด็กควรจะมีตามวัย สมรรถนะที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องภารกิจประจำวันของเด็ก
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ครูจะต้องพิจารณาว่าเด็ก ๆ จะต้องมีสมรรถนะอย่างไร ถ้าเด็กทำไม่ได้ จะต้องเข้าไปเสริม
       
ผอ.สมร.:      ใช่ค่ะ ครูจะต้องมีกิจกรรมเข้าไปเสริมให้เด็กทำได้ตามวัย จากผลการวิจัย พบว่า เด็กมีพัฒนาการตามวัยมากขึ้น สามารถทำให้ครูดูแลเด็กได้ทั่วถึง เพราะในช่วงปฐมวัยครูต้องดูแลและใส่ใจเด็กเป็นรายบุคคล เด็กสามารถเรียนรู้ถึงธรรมชาติ รู้จักดิน ทราย น้ำ ฯลฯ โดยมีครูเป็นผู้ที่คอยแนะนำ และให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กสามารถพัฒนาได้ตามวัย
       
ผู้ดำเนินรายการ:     การอภิปรายในครั้งนี้ มีการนำสาระสำคัญของประเด็นอะไรเข้ามาคุยเป็นพิเศษหรือไม่
       
ผอ.สมร.:     สกศ. ต้องการชี้ให้เห็นว่าเด็กปฐมวัย เป็นเด็กที่ต้องดูแล แต่ไม่ควรจำกัดขอบเขตของเด็ก เด็กไม่อยู่ในกรอบ จะต้องเรียนรู้โดยธรรมชาติ เรียนรู้ตามวัยของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการพัฒนา
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ในส่วนของการเสวนา OEC Forum มีการตั้งเป็นมาตรฐานของอาเซียนหรือไม่ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างไร ให้ความร่วมมือหรือแลกเปลี่ยนกันอย่างไร
       
ผอ.สมร.:      ขณะนี้ ดร. สายสุรี จุติกุล เป็นผู้จัดทำร่วม (ร่าง)มาตรฐานของอาเซียนขึ้น โดยนำสมรรถนะของเด็กปฐมวัยที่ประเทศไทยที่ได้มีการศึกษาวิจัย ไปใส่ในมาตรฐานของอาเซียน ทั้งในด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนนำเสิ่งเหล่านี้มาใช้
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ท่านจะนำประเด็นต่าง ๆ มาใส่ในภารกิจอย่างไร และจัดทำแผนอย่างไร
       
ผอ.สมร.:     ขณะนี้รัฐธรรมนูญให้เด็กปฐมวัยเรียนฟรี และอยู่ในแผนการศึกษาแห่งชาติ ๑๕ ปี ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากำลังดำเนินการเร่งจัดทำอยู่  
       
ผู้ดำเนินรายการ:     ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้   ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการเกี่ยวกับการเสวนาในครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร
       
ผอ.สมร.:      สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดการเสวนา OEC Forum ทุกเดือน ในสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือน ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีในแต่ละเดือนจะมีประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นที่สำคัญ ต้องการแก้ไข นำใส่ในแผนการศึกษาแห่งชาติ หรือนำเสนอรัฐบาล     ให้เห็นเป็นนโยบายที่สำคัญ อยากเรียนเชิญทุกท่านได้มีโอกาสเข้าร่วม ซึ่งท่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต แขวงดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ โทรศัพท์ ๐๒ ๖๖๘ ๗๑๒๓ หรือ www.onec.go.th
       
ผู้ดำเนินรายการ:     วันนี้ขอขอบพระคุณ ผอ. สมรัชนีกร  อ่องเอิบ  ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในวงการศึกษาต่อไป
       
      .......................................................................................................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด