ขอเชิญบุคคลทั่วไป องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเสนอชื่อผู้ทรงภูมิปัญญา เพื่อเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกเป็น ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙

ประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
เรื่อง  การสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙


             ด้วย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีการสรรหาและคัดเลือก ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ ในฐานะผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาด้านหนึ่งด้านใด ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทยในการทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทั้ง ๓ รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษา นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ฉะนั้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ จึงขอประกาศ เรื่อง การสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ โดยมีรายละเอียดดังนี้

             ๑. คุณสมบัติ
             ๑.๑. ต้องมีสัญชาติไทย
             ๑.๒. เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
             ๑.๓. มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามขอบข่ายภูมิปัญญาไทย
             ๑.๔. มีประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญในขอบข่ายภูมิปัญญาไทย ด้านใด ด้านหนึ่ง ไม่น้อยกว่า ๕ ปี
             ๑.๕. มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม
             ๑.๖ ไม่เคยได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มาก่อน
             ๑.๗ เป็นผู้สืบสาน สร้าง หรือรังสรรค์องค์ความรู้ ประสบการณ์ ผลงานตามขอบข่ายภูมิปัญญาไทย และที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับ

             ๒. สาขาและขอบข่าย
             ตามนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา ซึ่งได้รับความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ได้กำหนดขอบข่ายภูมิปัญญาไทยไว้ ๙ ด้าน ดังนี้
             ๒.๑ ด้านเกษตรกรรม ได้แก่ ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในสภาวการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิตและการรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นต้น
             ๒.๒ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้แก่ รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นขบวนการให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารา กลุ่มโรงสี กลุ่มหัตถกรรม เป็นต้น
             ๒.๓ ด้านการแพทย์แผนไทย ได้แก่ ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชนโดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้ เช่น ยาจากสมุนไพร อันมีอยู่หลากหลาย การนวดแผนโบราณ การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน เป็นต้น
             ๒.๔ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งการอนุรักษ์พัฒนาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น การบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การทำแนวปะการังเทียม การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำและป่าชุมชน เป็นต้น
             ๒.๕ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ได้แก่ ความสามารถในด้านการสะสมและบริหารกองทุน และสวัสดิการชุมชน ความมั่นคงให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในกลุ่ม เช่น การจัดการกองทุนของชุมชนในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ รักษาพยาบาลของชุมชน และการจัดระบบสวัสดิการบริการชุมชน
             ๒.๖ ด้านศิลปกรรม ได้แก่ ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ การละเล่นพื้นบ้านและนันทนาการ
             ๒.๗ ด้านภาษาและวรรณกรรม ได้แก่ ความสามารถในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ผลงานด้านภาษา คือ ภาษาถิ่น ภาษาไทยในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงด้านวรรณกรรมท้องถิ่นและการจัดทำสารานุกรม ภาษาถิ่น การปริวรรตหนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆ
             ๒.๘ ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ได้แก่ ความสามารถในการประยุกต์ และปรับใช้หลักธรรม คำสอน ทางศาสนา ปรัชญาความเชื่อและประเพณีที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อบริบททางเศรษฐกิจสังคม เช่น การถ่ายทอดวรรณกรรม คำสอน การบวชป่า การประยุกต์ประเพณีบุญประทายข้าว
             ๒.๙ ด้านโภชนาการ ได้แก่ ความสามารถในการเลือกสรร ประดิษฐ์และปรุงแต่งอาหารได้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในสภาวการณ์ต่างๆ ตลอดจนผลิตเป็นสินค้าและบริการส่งออกที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก รวมถึงการขยายคุณค่าเพิ่มของทรัพยากรด้วย

             ๓. หลักเกณฑ์การคัดเลือก
             สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับคณะทำงานสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา เพื่อสรรหาและคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทย โดยใช้เกณฑ์การประเมิน ๒ ลักษณะ ดังนี้
             ๓.๑ การประเมินจากเอกสาร ๓ องค์ประกอบ ได้แก่
                          (๑) ประวัติ
                          (๒) ผลงาน
                          (๓) การเป็นที่ยอมรับ
             อนึ่ง ผู้เข้ารับการสรรหาต้องผ่านเกณฑ์การประเมินจากเอกสารก่อน จึงจะผ่านไปสู่การประเมินภาคสนามต่อไป
             ๓.๒ การประเมินภาคสนาม ๓ องค์ประกอบ ได้แก่
                          (๑) ด้านคุณลักษณะส่วนบุคคล
                          (๒) ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้
                          (๓) ด้านคุณภาพและผลงาน
             ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของคณะทำงานสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ถือเป็นที่สุด

             ๔. การเสนอชื่อ
             ๔.๑ ผู้ที่สนใจ องค์กรหรือหน่วยงานที่มีความประสงค์จะเสนอรายชื่อ ประวัติและผลงาน ผู้ทรงภูมิปัญญาเพื่อเข้ารับการพิจารณาประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙” เขียน แบบเสนอประวัติและผลงานผู้ทรงภูมิปัญญา ตามแบบเสนอชื่อแนบท้ายประกาศนี้ ส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กทม. ๑๐๓๐๐ (นางสาวปิยะมาศ เมิดไธสง หรือ นายเอกพล ดวงศรี หรือ นางสาวบุศรา บุญเกิด) หรือ http://www.onec.go.th/ ภายในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๑
             ๔.๒ ติดต่อขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือ นางสาวปิยะมาศ เมิดไธสง หรือ นายเอกพล ดวงศรี หรือ นางสาวบุศรา บุญเกิด โทรศัพท์ ๐ ๒๖๖๘ ๗๑๒๓ ต่อ ๒๕๔๐, ๒๔๕๙ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๐๘๑ ๘๐๘ ๗๕๗๔ ในวันและเวลาราชการ

             ๕. การประกาศผลการคัดสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙
             สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ หรือตามแต่เวลาที่เห็นเป็นการสมควร

                                                                              ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด